วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน (International Day for The Conservation of the Mangrove Ecosystem) หรือ วันป่าชายเลนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม ของทุกปี ตนในฐานะผู้นำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน เนื่องจากปัจจุบันป่าชายเลนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย จากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของผู้คน ในโอกาสนี้ อยากเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังแห่งความร่วมมือ ร่วมใจปกปักรักษา ฟื้นฟูป่าชายเลน มรดกโลกอันล้ำค่าของเรา ด้วยพลังแห่งความร่วมมือเราจะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับป่าชายเลนและโลกของเรา ซึ่งในปีนี้กระทรวง ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดงานวันป่าชายเลนโลก (International Day for the Conservation of the Mangrove Ecosystem) และประกาศความร่วมมือภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย “Thailand Mangrove Alliance” ประจำปี พ.ศ. 2567 ตนได้มอบหมายให้ ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานมูลนิธิสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลน พร้อมด้วย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และนายประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ในสังกัด ทส. และ ทช. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคีภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และกลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
โดยกระทรวง ทส. ได้ผลักดันภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทยให้ได้รับความเชื่อถือและยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล การรวมพลังของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ถือว่าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่ง รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ด้วยหลักการอนุรักษ์ฟื้นฟูแบบยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ คือ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และ มิติเศรษฐกิจ ในการนี้ ตน ได้กำชับให้กรม ทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้มุ่งเน้นด้านการอนุรักษ์ และปกป้องทรัพยากรป่าชายเลนของประเทศไทย พร้อมทั้งมอบหมายให้กรม ทช. เป็นศูนย์กลางในการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป “พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวทิ้งท้าย”
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เมื่อวันป่าชายเลนแห่งชาติที่ผ่านมา กรมฯ ได้จับมือองค์กรภาคีภาคเอกชน จำนวน 33 องค์กร จัดทำบันทึกความร่วมมือ MOU เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย (Thailand Mangrove Alliance) ที่มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมความรู้ สนับสนุนการอนุรักษ์ ขับเคลื่อนการวิจัย และสร้างเครือข่ายทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค ท้องถิ่น และระดับสากลให้ครอบคลุมในทุกมิติ และในวันนี้ กรม ทช. ได้จับมือร่วมกับอีก 14 องค์กร โดยภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทยและสมาชิกให้พันธะสัญญาที่จะร่วมมือกันยกระดับการอนุรักษ์ป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งรวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ทั้งนี้ ตน ได้ดำเนินตามข้อสั่งการของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นและผลักดันในเรื่องการพัฒนานโยบายเครื่องมือ ระบบ ฐานข้อมูล ระบบกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนเพื่อให้ได้รับการยอมรับทั้งจากภายในประเทศและในระดับสากล โดยกรมฯ และภาคีเครือข่ายฯ มีเป้าหมายที่จะร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยอย่างน้อย 30% หรือ 500,000 ไร่ ภายในปี พ.ศ. 2574 และจะขยายการฟื้นฟูพื้นที่จนครบ 100% ภายใน ปี พ.ศ. 2593 อีกด้วย
ปัจจุบันโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก ประจำปี พ.ศ. 2565-2566 มีจำนวน 35 ราย เนื้อที่ 54,394.39 ไร่ และโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 94 ชุมชน เนื้อที่ 156,177.15 ไร่ โดยโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ของกรม ทช. ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แล้ว จำนวน 10 โครงการ รวม 5,195.04 ไร่ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 27,346 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้การจัดงานระดมความคิดเห็นจากของชุมชนชายฝั่ง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 (วันป่าชายเลนแห่งชาติ) พบว่าชุมชนชายฝั่งส่วนใหญ่ต้องการที่จะให้ภาคีเครือข่ายฯ มุ่งเน้นด้านการจัดการขยะในป่าชายเลน คลอง หน้าหาดและในทะเล การสร้างจิตสำนึกเรื่องการเฝ้าระวัง การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้ความรู้ การแก้ไขที่ดินทำกิน และการส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาคีเครือข่ายฯ ได้ฟื้นฟูป่าชายเลนเสื่อมโทรม และพื้นที่ที่ผ่านการรื้อถอนจากการบุกรุกของประชาชน ให้กลับมาเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการจับสัตว์น้ำ เพื่อประกอบอาชีพและมีรายได้อย่างยั่งยืน “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”
นางวาสนา จันทร์ทอง ประธานป่าชายเลนชุมชนบ้านโคกพยอม จังหวัดสตูล กล่าวว่า การดำเนินงานของภาคีเครือข่าย ทำให้ป่าชายเลนบริเวณโดยรอบเกิดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งแหล่งอาหารของมนุษย์ และแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด นอกจากนี้ภาคีเครือข่ายยังสร้างความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาและสร้างประโยชน์จากป่าชายเลน พร้อมทั้งเข้ามาสนับสนุนทำให้เกิดเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สามารถให้กลุ่มบุคคลทั่วไปหรือนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบการดูแลรักษาป่าชายเลนให้กับชุมชนใกล้เคียง ภายหลังป่าชายเลนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านได้มีอาชีพในเรื่องของการจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นทำให้ชาวบ้านภายในชุมชนสามารถสร้างอาชีพและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกด้วย