วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าพบนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อหารือแนวทางการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน, นโยบาย Circular Economy และการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement Policy) ณ ห้องประชุมชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันเอกชนด้านอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นองค์การกลางและเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมไทย มีภารกิจหลัก คือ ส่งเสริมสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมและมุ่งมั่นพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชนของประเทศให้แข็งแกร่ง ทำหน้าที่เป็นกลไกพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในวันนี้ได้นำคณะผู้บริหารมาเข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อหารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่
1) ด้านการกำกับดูแล โดยการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เนื่องจากมาตรการและกฎหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีข้อจำกัด ซ้ำซ้อน และเข้มงวดมากกว่ามาตรฐานสากล เช่น SEA มาตรฐาน VOCs ในบรรยากาศ ส.อ.ท. จึงขอเสนอให้กระทรวงฯ สนับสนุนการประเมินและการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ ด้วยมาตรการที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งทบทวนแนวปฏิบัติของ SEA ให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ทบทวนมาตรฐานให้มีความเป็นสากล และเน้นที่การดำเนินงานเชิงปฏิบัติแทนการกำหนดค่ามาตรฐานที่เข้มงวด และพัฒนาระบบ Single Form สำหรับการรายงานมลพิษ รวมทั้งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกมาตรการ/กฎหมาย
2) ด้านการส่งเสริมและพัฒนา โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
2.1) นโยบาย Circular Economy
การจัดการขยะพลาสติก มีเป้าหมายนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100 % ภายในปี 2570 และลดขยะพลาสติกในทะเลไทยให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 ตามแผนแม่บทในการกำจัดขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ซึ่งต้องประสานงานกันทั้งระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการพัฒนาโครงสร้างและระบบการจัดเก็บและคัดแยกขยะแบบบูรณาการ, การส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิลและอัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก, การส่งเสริมบทบาทอุตสาหกรรมพลาสติก เจ้าของแบรนด์ และผู้ค้าปลีกให้มีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติก และการเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมและผู้บริโภคให้มีความรับผิดชอบในการคัดแยกขยะ เนื่องจากในความเป็นจริงขยะพลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ แต่ต้องสามารถรวบรวมขยะให้เข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้ ทั้งนี้ ส.อ.ท.ขอเสนอมาตรการเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกให้เป็นไปตามเป้าหมายโดย 1) กำหนดมาตรฐานสำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) ส่งเสริมด้วยมาตรการทางภาษีหรือสิทธิประโยชน์การลงทุน 3) นโยบายส่งเสริมอื่นๆ สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน
การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. เห็นด้วยในหลักการที่ต้องมีการตรา พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … โดยมาตรการระยะยาวควรผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ที่มีความเหมาะสม เป็นธรรม และนำไปปฏิบัติได้ โดยความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ คพ. ส่วนมาตรการระยะสั้นควรจัดทำ Model ของ E-Waste Voluntary Project ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ โดยนำร่องที่ผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท
การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท. ขอเสนอให้มีการส่งเสริมการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลอย่างครบวงจร สนับสนุนให้มีการใช้สินค้าจากการรีไซเคิล รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการคัดแยก รวบรวมวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น
2.2) การส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement Policy) ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานมุ่งสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) รวมทั้งการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-products) โดยกำหนดให้ภาครัฐใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 30% ของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และมีมาตรการจูงให้ภาคเอกชนได้รับการลดหย่อนภาษี 200% จากการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือในการบริโภคสีเขียว (Green Card Application/Vendor Lists Website)