อย. เชิงรุก เสริมแกร่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน เสริมทักษะให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ตรวจประเมิน ASEAN Cosmetic GMP สามารถพัฒนาและกำกับดูแลสถานที่ผลิตเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานสากล
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางที่มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีจุดเด่นหลายด้านทั้งด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การใช้วัตถุดิบธรรมชาติ การสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการสร้างมูลค่าของเครื่องสำอางไทยมาโดยตลอด อย. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึง ส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ประกอบการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ในด้านมาตรฐานการผลิตเครื่องสำอาง ตามข้อกำหนด ASEAN Cosmetic GMPรวมทั้งยังเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ในการตรวจประเมินตามแนวทางวิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอางอาเซียนให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพิ่มจำนวนผู้ตรวจประเมินให้เพียงพอต่อการประเมินในอนาคตสร้างความยั่งยืนขององค์กรในการพัฒนาและกำกับดูแลสถานที่ผลิตเครื่องสำอางให้ได้มาตรฐานสากล พัฒนายกระดับและเพิ่มขีดความสามารถผู้ผลิตเครื่องสำอางในประเทศให้มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันด้านการค้าได้ ต่อยอดการเพิ่มมูลค่าการส่งออกในอนาคต และคงความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน
เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. มุ่งกำกับดูแลให้มีการผลิต นำเข้า และขายเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน ซึ่ง อย. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าคุณภาพดี สม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยให้พัฒนาในทุก ๆ ด้าน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากล ทั้งนี้ข้อกำหนด ASEAN Cosmetic GMP เป็นหนึ่งในมาตรฐานสากลที่จะการันตีคุณภาพของเครื่องสำอางว่ามีคุณภาพดี สม่ำเสมอ ดังนั้น อย. จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรของ อย. ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้มีองค์ความรู้ในข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อพัฒนาต่อยอดให้สามารถนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานเป็นผู้ตรวจประเมิน ASEAN Cosmetic GMP ต่อไป