วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีเสวนา “Sharing Day : ถอดบทเรียนความสำเร็จของผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge)” เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนจากผู้บริหารศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยมี ศ. ดร. พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ. ดร. นพ.ดำเนินสันต์ พฤกษากร ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญของเครือข่ายนักวิจัย ด้านชีวสารสนเทศแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ. ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจรไมโครอิเล็กกรอนิกส์ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศ และภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ. ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ผู้บริหารจัดการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปรัปชับ และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ. ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ ผู้บริหารจัดการศูนย์กลางความรู้ด้านการให้ควาพร้อนถ้วยคลื่มโมโครเวฟ การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุยชาติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันเสวนาบนเวที ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ ณ ห้องประชุม MR 209 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
ศ. ดร. พญ.ณัฏฐิยา กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งแห่งประเทศไทย มีหน้าที่บริหารจัดการบุคลากรด้านมะเร็งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาวิธีการรักษาและยารักษาโรคมะเร็งที่ล้ำสมัย การสร้างและพัฒนาทีมงานที่มีความรู้ความสามารถสูง จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และนำไปสู่การเพิ่มอายุขัยและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญ
รศ. ดร. นพ.ดำเนินสันต์ กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญของเครือข่ายนักวิจัย ด้านชีวสารสนเทศแห่งประเทศไทย ว่าศูนย์นี้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยด้านชีวสารสนเทศของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
รศ. ดร.สุขุม กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงจรไมโครอิเล็กกรอนิกส์ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและ ส่งเสริมการวิจัย เพื่อ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ และ สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน
รศ. ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพและขยายตลาดผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่า ลดการสูญเสีย และยกระดับมาตรฐานผลผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการเผยแพร่ความรู้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน
ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศ และภูมิอากาศ เป็นศูนย์ที่รวบรวมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลากหลายสาขา มาร่วมกันศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุม โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาอย่างละเอียด เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการแก้ไขที่ตรงจุด สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา และให้คำปรึกษาเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ผศ. ดร.ต่อภัสร์ กล่าวว่า ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปรัปชับ และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค เป็นศูนย์กลางรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับคอร์รัปชัน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาค และพัฒนากลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงาน
รศ. ดร. หมุดตอเล็บ กล่าวว่า ศูนย์กลางความรู้ด้านการให้ควาพร้อนถ้วยคลื่มโมโครเวฟ การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุยชาติ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีคลื่นไมโครเวฟจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเศรษฐกิจ
การเสวนา “Sharing Day : ถอดบทเรียนความสำเร็จของผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ และศูนย์กลางด้านความรู้” ในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำความรู้ไปพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยในระยะยาว
ทั้งนี้ วช. ขอเรียนเชิญประชาชนทุกท่านร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษกับงาน “อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอนวัตกรรมและผลงานวิจัยอันล้ำสมัยที่น่าสนใจ พร้อมกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่สนใจเทคโนโลยีและอนาคตของประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้จนถึง 28 ก.ค. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์