กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกหน่วยงานรัฐ-เอกชน-ประชาชน เปิด “โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน” ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความยั่งยืนให้สังคม-สิ่งแวดล้อม

​กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน จัด “โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้นโยบาย MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนชาวไทย ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ผ่านกิจกรรมฯ แบ่งเป็น 8 ด้าน 298 กิจกรรม ผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608

​ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก ก่อให้เกิดภาวะโลกเดือด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อันมีสาเหตุหลักมาจาก ‘กิจกรรมของมนุษย์’ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรและพลังงานเพื่อการผลิต การบริโภค การขนส่ง และการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น และเร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ

​กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับ 13 หน่วยงานหลัก จากภาครัฐและภาคเอกชน จัด“โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” เพื่อแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนชาวไทย ตลอดจนเสริมสร้างจิตสำนึกของการเป็นผู้ให้ โดยสนับสนุน ส่งเสริมสถานประกอบการให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถอยู่ด้วยกันกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบาย MIND ใช้ ‘หัว’ และ ‘ใจ’ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน เพื่อให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่าน 4 มิติิ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ความลงตัวกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง โดยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้ปริมาณ 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ผ่านการขับเคลื่อนกิจกรรมใน 8 ด้าน จำนวน 298 กิจกรรม ประกอบด้วย

• ด้านที่ 1 การลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และเกษตร จำนวน 13 กิจกรรม ลดได้ 2,934,277 ตัน อาทิ กิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาอ้อย กิจกรรมการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และกิจกรรมการปลูกต้นไม้เพื่อเพิมพื้นที่สีเขียว
• ด้านที่ 2 การยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการลดการปล่อย หรือการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1 กิจกรรม ลดได้ 2,000,000 ตัน อาทิ กิจกรรมการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานภายใต้การรับรองระบบงาน
• ด้านที่ 3 การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงาน ที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 209 กิจกรรม ลดได้ 1,140,429 ตัน อาทิ กิจกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และกิจกรรมการนำใบและยอดอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต่อเนื่องจากโรงงานน้ำตาล
• ด้านที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน จำนวน 44 กิจกรรม ลดได้ 796,525 ตัน อาทิ กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (IoT, AI, Capacitor bank) และกิจกรรมลดของเสียจากกระบวนการผลิต (By-product / Industrial waste)
• ด้านที่ 5 การจัดการสารเคมี จำนวน 3 กิจกรรม ลดได้ 200,961 ตัน อาทิ กิจกรรมเผาทำลายสารทำความเย็น
• ด้านที่ 6 การส่งเสริมและปรับเปลี่ยนมาตรฐานด้านยานยนต์ จำนวน 5 กิจกรรม ลดได้ 91,873 ตัน อาทิ การควบคุมปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ มาตรฐาน EURO 5 และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV)
• ด้านที่ 7 การบริหารจัดการทรัพยากร (นํ้า/ของเสีย/วัตถุดิบ) จำนวน 10 กิจกรรม อาทิ กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม และกิจกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ
• ด้านที่ 8 การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) จำนวน 13 กิจกรรม ลดได้ 1,586 ตัน อาทิ การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคนิคมฯ Smart Park

​สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนวัดหนองพะวา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในชื่อชุด “พลังงานสะอาดสู่อนาคต“แสดงถึงการร่วมแรงร่วมใจ รวมพลังทุกภาคส่วน พร้อมมอบโล่เชิงสัญลักษณ์ ให้แก่ 13 หน่วยงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการฯ แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งยังเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี และความร่วมมือร่วมใจกันทำประโยชน์ต่อสาธารณะ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย