กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) กรุงเทพมหานคร รุ่น 2 ต่อยอดอาวุธทางปัญญา สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเชิงรุก ร่วมเป็นหูเป็นตากับภาครัฐ พร้อมส่งต่อความรู้สู่ชุมชนประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันภัยสุขภาพในระยะยาว
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารกรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข ดร.ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.เป็นปรานเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สำหรับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และบุคลากรสังกัดกรม สบส. จำนวน 165 คนเข้าร่วม
ดร.ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งมุ่งให้ภาครัฐพัฒนากระบวนงานตามภารกิจเข้าสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัล นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างมีประสิทธิผล มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านบริการสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล เช่น คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน หรือการลักลอบให้บริการเสริมความงามนอกสถานที่ของหมอกระเป๋า ฯลฯ ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีคลินิก 8,147 แห่ง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรม สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาล มากกว่า 400 เรื่อง โดยประเด็นเรื่องร้องเรียนสำคัญที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้แก่ การตรวจสอบมาตรฐานของสถานพยาบาล การโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสถานพยาบาลเถื่อน และหมอเถื่อน ดังนั้น การพัฒนามาตรการเฝ้าระวังเชิงรุก จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการป้องปราม การกระทำผิด ซึ่งกรม สบส.เล็งเห็นถึงความสำคัญของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จึงกำหนดจัดการอบรมฯ ในวันนี้ขึ้น โดยเป็นการอบรม อสส. รุ่นที่ 2 เพื่อต่อยอดอาวุธทางปัญญาให้กับ อสส. ทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17,000 คน ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ถึงบทบาทในการตรวจสอบ และเฝ้าระวังคลินิกในเขตกรุงเทพมหานคร เกิดการพัฒนาศักยภาพและขยายผลเครือข่ายการเฝ้าระวังเชิงรุก ให้สามารถเป็นหูเป็นตาร่วมกับภาครัฐในการเฝ้าระวัง คุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แม้กรม สบส.จะดำเนินงานเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด แต่ด้วยกำลังของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว อาจจะไม่สามารถป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายได้ทุกกรณี จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ อสม.และ อสส.ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิด คุ้นเคยกับประชาชน และพื้นที่เป็นอย่างดี ร่วมส่งต่ออาวุธทางปัญญาที่ได้รับจากการอบรมฯ ไปสู่ประชาชนให้เข้าถึง เข้าใจต่อภัยอันตรายของคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน หรือการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง จนเป็นภูมิคุ้มกันติดตัวประชาชนไปในระยะยาว” ดร.ทพ.อาคมฯ กล่าว