วันที่ 29 ส.ค. 2562 นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานกรรมการบริหารเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (เครือข่าย Thai SCP : Thai Sustainable Consumption and Production Network) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน : ทิศทางใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ เครือข่าย Thai SCP ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กทม.
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. และประธานเครือข่าย Thai SCP กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกมีเกือบ 8 พันล้านคน และในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีเกือบ 10 พันล้านคน ทำให้ความต้องการใช้พลังงาน น้ำ อาหาร และทรัพยากรมีมากขึ้น แต่ทรัพยากรบางประเภทมีปริมาณจำกัด และมีแนวโน้มลดลง การส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้นำการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP) มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงมีความจำเป็น โดยจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวนาน ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการนั้นๆ เป็นการสร้างโอกาสให้กับโมเดลธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ทั้งการออกแบบ การนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล หรือนำวัสดุที่คัดแยกมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตหลายครั้ง เพื่อลดการนำไปกำจัด ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเกิดการสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปลัด ทส. กล่าวต่อว่า เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ “เครือข่าย Thai SCP” จึงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ซึ่งนับเป็นเครือข่ายแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลหลายภาคส่วนที่สนใจในการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย เครือข่ายเกษตรกร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นิด้า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัย และองค์กรพัฒนาเอกชน ปัจจุบัน มีสมาชิก จำนวน 130 คน เพื่อร่วมกันทำงานในลักษณะเครือข่าย ผลักดัน “แผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2579” ของประเทศ (20 – yr Thai SCP Roadmap) โดยการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 เดือน ที่ผ่านมา มีทั้ง การจัดกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น การจัดทำเว็บไซต์ www.ThaiSCP.net เพื่อเป็นช่องทางติดต่อกับสมาชิกและเผยแพร่ผลงาน การวิเคราะห์และจัดทำรายงานสถานการณ์ การดำเนินงานด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปี 2562 (Thai SCP Annual Status Report 2019) การจัดสัมมนาและฝึกอบรม ตลอดจนการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนเครือข่ายฯ ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร แต่ยังไม่สามารถเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ควรจะเป็นได้อย่างครบวงจรอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบดังกล่าว มี 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1. มีนโยบายของประเทศที่ชัดเจนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 2. มีการสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง ผลักดันเป็นนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน 3.ปรับปรุงกฎระเบียบหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์/สร้างแรงจูงใจ ให้ผู้ประกอบการใช้วัสดุหมุนเวียนรวมถึงใช้วัสดุหรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4. มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ส่งเสริมการลดและคัดแยกผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุงานในห่วงโซ่
การผลิต มาเป็นวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานในกระบวนการผลิตรอบใหม่ 5. มีแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6. มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวัสดุในกระบวนการผลิตระหว่างผู้ประกอบการ การให้ข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับประชาชนทุกระดับ รวมทั้งการคัดแยกขยะจากต้นทาง และ 7. ควรมีการเร่งตรวจสอบและให้การรับรองสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ ให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการนำนวัตกรรมมาใช้ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น ปลัด ทส. กล่าว
ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับเครือข่าย Thai SCP เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ กระตุ้น และส่งเสริมความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการผลิตและการบริโภค ที่ยั่งยืน (SCP) ผู้ร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาชิกเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย ผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ ภาคการศึกษา และวิจัย ภาคการเงินการธนาคารและตลาดทุน ภาคประชาสังคม และผู้สนใจทั่วไป รวมทั้งสิ้น 140 คน กิจกรรมภายในงาน มีการปาฐกถาพิเศษ โดย ปลัด ทส. และประธานเครือข่ายฯ ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” และ Dr. Arab Hoballah ผู้เชี่ยวชาญจาก EU-Switch Asia SCP Facility ในหัวข้อ “SCP, the Sustainability Driver at Global, Regional and Local Levels” ตลอดจน การเสวนา “ความท้าทายของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SCP)”และการระดมความคิดเห็น ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วย SCP ใน 3 ด้าน ได้แก่ การเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ทางออกของการลดขยะพลาสติก รวมทั้งการนำเสนอผลการดำเนินงานและ ทิศทางการดำเนินงานในอนาคตของเครือข่ายฯ ในปีต่อๆ ไป เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อน SCP 20 ปี ของประเทศ และสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง