วันที่ 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการดำเนินงานโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล องศ์กรเครือข่ายทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไป ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีทางศาสนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อถวายพระราชกุศล และเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าและศาสนิกชนทุกศาสนา ได้ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมกับภาคคณะสงฆ์ ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 ในส่วนกลางกำหนดเปิดตัวโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้สนับสนุนให้วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดเวฬุวนาราม (ไผ่เขียว) และวัด ศาสนสถาน สถานปฏิบัติธรรมในกรุงเทพมหานครที่มีความพร้อมร่วมขับเคลื่อนดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากนี้ยังสนับสนุนเครือข่ายองค์กรทางพระพุทธศาสนา ร่วมจัดโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติฯ และส่งเสริมให้เครือข่ายองค์กรทางศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ ร่วมทำสมาธิ ฝึกจิตใจตามหลักศาสนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนภูมิภาคได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศขับเคลื่อนโครงการและนำร่องผ่านสื่อองค์ความรู้ และร่วมขยายผลระดับพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ดังนี้
– ภาคเหนือ กำหนดจัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2567 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดจัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 29 – 31 กรกฎาคม 2567 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม 2567 ณ วัดวชิราลงกรณวราราม จังหวัดนครราชสีมา
– ภาคตะวันออก กำหนดจัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม ๒๕๖๗ และครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคม 2567 ณ สำนักปฏิบัติธรรม “ธรรมปทีป” จังหวัดชลบุรี
– ภาคใต้ กำหนดจัดโครงการครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 – 16 สิงหาคม ๒๕๖๗ และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 23 สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ วัดถ้ำสุมะโน จังหวัดพัทลุง
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งสถาบันการศึกษา ศาสนสถานทุกศาสนา จัดกิจกรรมในรูปแบบ Online เช่น การสอนวิปัสสนาผ่าน Influencer และสื่อวีดิทัศน์ เพื่อนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม เสริมสร้างคนดี สังคมดี โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส เป็นคนดีของสังคม มีทัศนคติที่ถูกต้องตามหลักธรรมยึดมั่นในหลักคำสอนทางศาสนาที่ตนเคารพนับถือ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้วัด ศาสนสถาน สถานศึกษาและเครือข่ายต่าง ๆ นำหลักการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาไปช่วยพัฒนาสมรรถนะทางจิตให้สงบ มั่นคง มีสติ และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
ในการจัดโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล มหาเถรสมาคมได้มีมติครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เห็นชอบให้กรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 3 รูป คือ 1) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 2) พระธรรมวชิรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 3) พระธรรมวชิรมุนี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการดำเนินงานโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้วัดทุกวัดในราชอาณาจักรและวัดไทยในต่างประเทศ และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด เข้าร่วมโครงการฯ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการปฏิบัติธรรมโดยมีกระบวนการฝึกและพัฒนาตนเอง ซึ่งต้องใช้สมาธิให้เข้าถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ที่นำมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องจะทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีความมั่นคงทางอารมณ์และมีภูมิคุ้มกันทางจิต ช่วยเสริมให้มีสุขภาพกายที่ดี และสามารถพัฒนาสติปัญญาเพื่อการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและนำไปสู่การขจัดกิเลส ก็จะคลายจากความทุกข์ เกิดความสงบในจิตใจและความร่มเย็นในสังคม เป็นการนำหลักธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักที่สำคัญอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน อีกทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยตลอดมา สถาบันชาติ แสดงถึงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สถาบันศาสนาช่วยบ่มเพาะให้คนเป็นคนดีสังคมดี สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและทรงสอนหลักปรัชญาตามแนวทางหลักธรรมทางศาสนาให้แก่ประชาชนนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กิจกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกคนได้ร่วมสำนึกถึงพระบรมราโชวาท โดยน้อมนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้มีการนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนา เสริมสร้างคนดี เป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรม และพิธีกรรมของแต่ละศาสนา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นการส่งเสริมคุณธรรมและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่ดีงาม เป็นการร่วมกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา และต่อยอด การปฏิบัติตนตามประเพณีและวัฒนธรรมไทยในมิติทางศาสนา สืบทอดให้คงอยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน