5 ทีมเยาวชนไทยคว้ารางวัลพิเศษ ในโครงการ Prime Minister’s Science Award 2024 สุดยอดโครงงานวิทย์ฯ เยาวชนระดับประเทศที่มีผลงานโดดเด่น

19 กรกฎาคม 2567 / ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลโครงการ Prime Minister’s Science Award 2024 รอบชิงชนะเลิศ พร้อมแสดงความยินดีกับ 5 ทีมเยาวชนที่สามารถคว้า Special Award รางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุนภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ, โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จ.ชลบุรี และ 2 ทีมเยาวชนจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ณ ห้องแสงเดือน-แสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM หนึ่งในหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานโครงการฯ เผยว่า “กระทรวง อว. ร่วมด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการ Prime Minister’s Science Award 2024 ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความสนใจในการเรียนรู้ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเพื่อให้ครูอาจารย์ โรงเรียนและผู้ปกครอง ในการสนับสนุนให้เยาวชนได้ร่วมกิจกรรมในลักษณะของโครงงาน โดยเน้นการเชิดชูเยาวชนและครูที่ให้ความสำคัญในกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในเวทีสำคัญของประเทศและนานาชาติ มีการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ผ่านมาในเวทีต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของไทยไปสู่ระดับโลกได้”

“ต้องขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ หวังว่าเวทีนี้จะสร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์อันมีค่าให้กับเยาวชนทุกคน ที่สำคัญต้องขอบคุณและชื่นชมการสนับสนุนของภาครัฐและธุรกิจที่ยืนหยัดช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของชาติที่พร้อมช่วยผลักดันและเป็นกำลังใจให้แก่เยาวชนไทยที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพต่อไป” ดร.กรรณิการ์ กล่าว

รางวัล Special Award ภายใต้โครงการ Prime Minister’s Science Award 2024 เป็นรางวัลที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงงานที่มีความโดดเด่น สื่อสารน่าประทับใจและสาระของโครงงานฯ สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานผู้สนับสนุนรางวัล ประกอบด้วย 5 รางวัล ได้แก่

1.รางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยผู้สนับสนุนจาก กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้แก่ ทีมโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ กับ โครงงานการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการผลิตไบโอดีเซลจากการย่อยสลายและการเปลี่ยนขยะทางการเกษตรโดยหนอนแมลงวันลาย (Reducing Carbon Footprint and Producing Biofuel from Waste Degradation and Conversion by Black Solider Fly) สมาชิกในทีม ได้แก่ นายณภูดล ศรีรัตนา และ นายปพนพัชร์ วิรุฬห์ไววุฒิ ซึ่งมี นางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นครูที่ปรึกษา และนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ที่ปรึกษาพิเศษ        

2.รางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยผู้สนับสนุนจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้แก่ ทีมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง กับ โครงงาน Activated Carbon Derived from Rice Husks Enhanced by Methylene Blue and Gamma Irradiation for Energy Storage Applications สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาวณัฏฐวรณัน สุวัฒนะพงศ์เชฏ นางสาวจิตติญาดา สุรวัฒนวิเศษ และนายธัญญ์นิธิ อนุสนธิวงษ์ ซึ่งมี นางสาวสุรนันท์ อนันตชัยศิลป์ ครูที่ปรึกษา และนางสาวธนกร แสงทวีสิน ที่ปรึกษาพิเศษ

3.รางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยผู้สนับสนุนจาก บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แก่ ทีมโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่ กับ โครงงานนวัตกรรมไหมขัดฟันเส้นใยกัญชงเสริมสารสกัดจากกะเพรา (Hemp – Holy Basil+ Dental Floss) พัฒนาโดย นายปาณัสม์ อาสาสรรพกิจ ซึ่งมี นางสาววราภรณ์ สืบสุยะ เป็นครูที่ปรึกษา และผศ.ดร.พลรัตน์ พันธุ์แพ ที่ปรึกษาพิเศษ

4.รางวัล Special Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ โดยผู้สนับสนุนจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ได้แก่ ทีมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จ.ชลบุรี กับ โครงงานการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อตรวจหาเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (M. Tuberculosis) จากการตรวจเสมหะด้วยวิธี Acid-Fast Bacillus (AFB) ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ สมาชิกในทีม ได้แก่ นายปัณณธร ขุนโหร และนายปีระกา พวงทอง ซึ่งมี นายวิเชียร ดอนแรม เป็นครูที่ปรึกษา และนายแพทย์แธนธรรพ์ แสงภู่ ที่ปรึกษาพิเศษ

5.รางวัล NSM President’s Science Communication Award ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สนับสนุนโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ได้แก่ ทีมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง กับ โครงงานsPET: Miniature Enzyme from Metagenomic Mining for the Hydrolysis of Polyethylene Terephthalate (PET) สมาชิกในทีม ได้แก่ นางสาววิรัลพัชร จิรัฐิติเจริญ นางสาวปวรวรรณ ไชยวงศ์ และนางสาวอภิปรียา ปวบุญสิริวงศ์  ซึ่งมี นางสาวอาจรีย์ ธิราช เป็นครูที่ปรึกษา และผศ.ดร.ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ ที่ปรึกษาพิเศษ

ทั้งนี้ รางวัลใหญ่ Prime Minister’s Science Project Award และรางวัล Prime Minister’s Science Teacher Award ภายใต้โครงการ Prime Minister’s Science Award 2024 จะประกาศผลพร้อมรับรางวัล ในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ต่อไป