วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDA นำโดยดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมลงนามในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การส่งเสริม สนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาการวิจัยการเกษตรและบุคลากรทางการเกษตร” ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อยกระดับงานวิจัย และพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการเกษตรระหว่างภาครัฐและสถาบันการศึกษา พร้อมร่วมพิธีเปิดประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ. วิจัย ครั้งที่ 18 “The 18th Ubon Ratchathani University Research Conference (UBRC) ภายใต้หัวข้อ Green-Growth-Gate” ณ อาคารเทพรัตนสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความร่วมมือกันมาตั้งแต่ปี 2563 โดยการลงนามครั้งนี้เป็นการต่อสัญญาจากฉบับเดิมที่สิ้นสุดในปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมา ARDA ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทาผิวสลายไขมันและกระชับสัดส่วนที่มีประสิทธิภาพจากสารสกัดกระชาย ในการลงนามครั้งนี้เพื่อต่อยอดยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐาน และในด้านการพัฒนาสัตว์เศรษฐกิจ เช่น สินค้าประมง และปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัยสำหรับการนำไปต่อยอดโครงการวิจัยด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรไทยเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการทำเกษตรรูปแบบใหม่เพื่อสร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการนำนวัตกรรมงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกร และขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นอกจากพิธีลงนามในวันนี้ ทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ. วิจัย ครั้งที่ 18 “The 18th Ubon Ratchathani University Research Conference (UBRC) Green-Growth-Gate” โดย ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “กรอบงานวิจัยและนโยบายการให้ทุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) 6 Mega Trends เปลี่ยนโลก” โดยนำเสนอเป้าหมายในการพัฒนาการเกษตรรูปแบบใหม่ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีการเกษตร (Agritechnology) 2. กาแฟและชา (Coffee & TEA) 3. อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) 4. โมเดลเศรษฐกิจ BCG 5. สุขภาพและความงาน (Health & Beauty) 6. เกษตรกรรมยั่งยืน (Agricultural Enviornment) นอกจากนี้ ARDA ยังได้เปิดคลินิกวิจัยโดยนำคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก ARDA ที่มาให้บริการคำปรึกษา แนะแนวทางการเขียนข้อเสนอโครงการอย่างไรให้ได้รับทุนวิจัยจาก ARDA ตลอดจนได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสนับสนุนทุนวิจัยมาร่วมจัดแสดงภายในงาน อาทิ เครื่องดื่มข้าวสินเหล็ก ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมะระขี้นก ยาแผนโบราณสกัด เครื่องดื่มสมุนไพรจากพูลคาว ผักเคลผง ซุปไก่สกัดพร้อมบริโภคสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีบุคลากรทางการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานกว่า 200 คน
รองศาสตราจารย์ ดร. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ความสำคัญกับการแสวงหาความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ ARDA ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ให้กับคณะนักวิจัย ให้สามารถสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพมาพัฒนาต่อยอดไปใช้ในวงกว้างต่อไป นอกจากนี้ม.อุบลได้จัดประชุมวิชาการระดับชาติ มอบ. วิจัย ครั้งที่ 18 ในระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับเป็นแนวทางในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไป โดยภายในงานปีนี้ได้มีผลงานวิจัยที่เข้าร่วมนำเสนอจำนวน 53 ผลงาน แบ่งเป็น การนำเสนอภาคบรรยาย จำนวน 36 ผลงาน และภาคโปสเตอร์จำนวน 17 ผลงาน พร้อมได้มีการมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยในปีนี้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัย 10 ท่าน รางวัลนักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นและผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล 3 ประเภท ได้แก่ 1. รางวัลนักวิจัยระดับ Tier 1 และ Q1 ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ 2. รางวัลผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม 3. รางวัลผลงานวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การลงนามในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของ ARDA ในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรไทย ภายใต้นโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”