18 กรกฎาคม 2567 / นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษาและกำลังคนทุกช่วงวัย ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับศักยภาพบุคลากรของประเทศในทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะความเชี่ยวชาญ นำไปสู่การเพิ่มรายได้ในระดับครัวเรือน และนำพาประเทศก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง สิ่งสำคัญต้องสร้างกลไกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง
“ภารกิจหลักในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มท. คือการพัฒนากำลังคนของประเทศ ทั้งระบบในทุกช่วงวัย กำกับ ดูแลภาพรวมทั้งหมดของการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ เชื่อมโยงโลกของการศึกษาสู่โลกของการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น จึงต้องร่วมกันสร้างกลไกในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง”
การส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาทักษะทางอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำ โดยเน้นพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ นักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วงวัย ให้เป็นกำลังคนคุณภาพสูง มีงานทำ มีรายได้ มีความมั่นคงในอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้มี Skill Certificate จึงทำให้เกิดความร่วมมือกันของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้นักเรียน นักศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้สามารถได้รับรอง Skill Certificate ควบคู่ไปกับคุณวุฒิทางการศึกษา รวมไปถึงสนับสนุนให้มีการใช้งานและเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะ ในการบริหารจัดการข้อมูลกำลังคนและการพัฒนา เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E- Workforce Ecosystem : EVE) เก็บเป็นเครดิตทักษะและสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อบ่งบอกถึงระดับความรู้ความสามารถของตนเองได้ต่อไป
“ขอให้การดำเนินงานที่เราได้ร่วมมือกันนั้น เชื่อมโยงโลกของการศึกษาสู่โลกของการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สามารถลดภาระด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และสถานประกอบการ ตลอดจนกลุ่มอาชีพอิสระต่าง ๆ ได้ ด้วยการเตรียมคนให้พร้อมกับการทำงานในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยกระดับกำลังแรงงานของประเทศในทุกมิติ”
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และกำลังคนทุกช่วยวัย ในวันนี้ ศธ. โดย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เน้นให้นักเรียน นักศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) มีการดำเนินงานธนาคารหน่วย (Credit Bank) ระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนหน่วยกิต สะสมประสบการณ์ที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติจริง เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพสูง มีสมรรถนะ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มาตรฐานอาชีพ และรองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (IGNITE THAILAND) จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง “ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก”
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษา และภาคแรงงาน เพื่อ Up – Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาประเทศ ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งระบบ มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน เพื่อการประกอบอาชีพ มีรายได้ มีงานทำและได้รับสวัสดิการอย่างเหมาะสม เป็นกำลังแรงงานคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมา รง.ได้ร่วมกับ ศธ. จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพต่าง ๆ อาทิ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก การจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ 2 สาขา ได้แก่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร และช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก รวมถึงการเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในการส่งเสริมให้ผู้ผ่านการฝึกอบรม และผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามความต้องการของแต่ละบุคคล รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานผ่านระบบ (E-Workforce Ecosystem : EWE)
ซึ่งหลังจากได้ลงนามความร่วมมือแล้วจะดำเนินการเชิญชวนนักศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมผ่านแพลตฟอร์ม DSD Online Training ขยายศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มเติมในสาขาอาชีพที่สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือปัจจุบันมีทั้งหมด 129 สาขา ในส่วนของการเทียบโอนกับอาชีวศึกษา เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น โดยนำร่องสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม การท่องเที่ยวและบริการ ผลักดันให้เยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับภาค ระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ โดยสถานศึกษาจะส่งผู้เชี่ยวชาญและประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio)