วันที่ 29 สิงหาคม 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง พร้อมทั้งสรุปแผนการพัฒนาลุ่มน้ำหลวงห้วยตอนล่าง โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน และนายจารึก วัฒนาโกศัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5 พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เกิดจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่อำเภอเมืองอุดรธานี และส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรต่างๆ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง มีลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านโคกสะอาด ตำบลโคกสะอาด อำเภอเมืองอุดรธานี ปิดกั้นลำห้วยหลวง และลำห้วยกระติบ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 135.57 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ฝั่งละ 1 สาย สำหรับใช้ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคและการเกษตร
สถานการณ์น้ำของจังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1 แห่ง ซึ่งได้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง มีปริมาณน้ำ 44 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 37.41 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง มีปริมาณน้ำ 79 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 24 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่าง สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนห้วยหลวง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 62 ถึง เดือนเมษายน 63 ประมาณ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้จัดทำแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 62/63 โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุบโภคบริโภคประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ได้มีแผนสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนกรกฎาคม 63 ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
ดร.ทองเปลว กล่าวต่อว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย กำหนดแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปี (ตั้งแต่ปี 2561 – 2569) ในวงเงินทั้งสิน 21,000 ล้านบาท โดยโครงการประกอบไปด้วย สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง มีอัตราการสูบน้ำรวม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พนังกั้นน้ำความยาว 47.02 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา จำนวน 12 แห่ง ประตูระบายน้ำในลำห้วยหลวง จำนวน 3 แห่ง ระบบกระจายน้ำในพื้นที่กว่า 315,195 ไร่ ระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ (Smart Flood Control System) หากดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้จากเดิม 90,000 ไร่ ลดลงเป็น 54,390 ไร่ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งโดยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนกว่า 245.87 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำสำหรับทุกภาคส่วนครอบคลุมพื้นที่กว่า 315,195 ไร่ 29,835 ครัวเรือน 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ในเขตพื้นที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดอุดรธานี
ในการนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาจากแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของราษฎรในพื้นที่ ขอให้หน่วยงานราชการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าว โดยเน้นให้ทำงานเชิงรุก ใส่ใจราษฎรให้มากที่สุด บูรณาการการทำงานร่วมกัน ยึดหลักบำบัดทุกข์บำรุงสุขบรรเทาปัญหาให้ราษฎรเป็นหลัก อีกทั้งหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สูงขึ้น
**************************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์