นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 13 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 5,212 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 282 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมและขั้นตอนในการปลดระวางเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและทดสอบการทำงานของเครื่องจักรในการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบการติดตามและตรวจสอบสถานะของรถยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI กับการประยุกต์ใช้ในงานบัญชี องค์ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ความรู้ด้านโพลิเมอร์และสิ่งทอเพื่อใช้ในงานวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
- ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 5 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวีเดน มีเงินลงทุนจำนวน 35 ล้านบาท อาทิ
- บริการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยธรรมชาติ
- การทำกิจการบริการทางบัญชี
- บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงานบางส่วน พร้อมทั้งสาธารณูปโภค
- บริการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจ การตลาด การลงทุน และความต้องการใช้สินค้า
- ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง มีเงินลงทุนจำนวน 4,763 ล้านบาท อาทิ
- บริการให้ใช้ระบบบริหารจัดการในการติดตามและตรวจสอบสถานะของรถยนต์
- บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- บริการให้เช่าแท่นสำหรับเสริมความแข็งแรงตัวถัง อุปกรณ์จับยึด
- บริการให้เช่าเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องฟอกเลือดฟอกไต เครื่องนำร่องศัลยกรรมกระดูก
- บริการให้บริการเกมส์ออนไลน์และเกมส์โมบาย
- ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 1 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศจีน มีเงินลงทุนจำนวน 24 ล้านบาท คือ
- การค้าส่งสารเคมีประเภทก๊าซไวไฟ ก๊าซไม่ไวไฟและไม่เป็นพิษ ก๊าซพิษ
- ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาเอกชน จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ และจีน
มีเงินลงทุนจำนวน 390 ล้านบาท คือ
- บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม
- บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2562 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1,721 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49 เนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2562 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 137 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 21,174 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 41 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 12,628 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 148 เนื่องจากในปี 62 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ รวมทั้งการแก้ไขความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม เป็นต้น
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ