จากการที่ประเทศเมียนมาได้ประกาศพบโรค ASF เป็นครั้งแรกในพื้นที่ใกล้ชายแดนจังหวัดเชียงราย ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ใกล้ช่องทางเข้าออกชายแดนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งอาจมีการลักลอบซื้อสุกรป่วยจากประเทศเมียนมามาชำแหละขายในพื้นที่ และอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ โดยเฉพาะโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ซึ่งมักจะลักลอบฆ่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย และเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในการแพร่กระจายของโรคระบาด
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าเพื่อเป็นการสกัดการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่อาจแพร่เข้ามาที่จังหวัดเชียงรายโดยผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์เถื่อนอาจลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรป่วยจากประเทศเมียนมาเข้ามาชำแหละขายในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคออกไปในวงกว้าง จึงได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์เขต 5 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เร่งปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อนในพื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยในวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 7 ราย จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา ตามมาตรา 15, 31, 39 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าเพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยลักลอบประกอบกิจการฆ่าสัตว์ ทำการฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์ และฆ่าสัตว์โดยไม่แจ้งพนักงานท้องถิ่น อัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ นอกจากนี้ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมทั้งยึดและอายัดของกลางมูลค่ารวม 400,000 บาท ทั้งนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ต้องหา 7 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเชียงแสน เพื่อดำเนินคดีต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2562 กรมปศุสัตว์สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดแล้วจำนวน 143 ราย มูลค่าของกลางจำนวน 1,428,106 บาท และขอให้ประชาชนตามจังหวัดชายแดนที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าซื้อเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาเพื่อบริโภค เนื่องจากอาจเป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการแพร่ระบาดของโรค ASF ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสร้างเสียหายแก่ธุรกิจการเลี้ยงสุกรอย่างมหาศาล และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง กรมปศุสัตว์จึงขอฝากไปยังประชาชนทุกท่าน หากพบเห็นการฆ่าสัตว์ที่อาจผิดกฎหมาย กรุณาแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ หรือที่ Application DLD 4.0
ข้อมูล :สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.)
เรียบเรียง :ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์