โครงการหลวงเลอตอ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่โครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณพื้นที่ปลูกบ้านแม่หละคี หมู่ 12 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก โดยมี นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมบูรณ์ ธิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 นายวิรุธ คงเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 9 นายอรรถพันธ์ ศรีศุภโอฬาร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง นายวิษณุ พิมบำรุง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตาก นายนิลภัทร คงพ่วง ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง คณะทำงานสนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน จิตอาสา และประชาชน ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียงในการปลูกต้นไม้หลากหลายพันธุ์ อาทิ ไม้แดง อินทนิล ยางนา มะค่าโมง มะขามป้อม ประดู่ป่า ฯลฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ จำนวน 26 ไร่

กิจกรรมในครั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อสนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” งานโครงการหลวง ด้านการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายในอดีต รวมถึงปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก เพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้มีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยบารมีฟื้นฟูปฐพีไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยสนับสนุนต้นกล้าหญ้าแฝก 1,500,000 กล้า และผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด. เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ จังหวัดตากได้ตั้งเป้าหมายปลูกป่าในพื้นที่โครงการหลวงเลอตอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 720 ไร่ โดยบรูณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ร่วมดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ไปแล้ว 369 ไร่ จำนวน 50,940 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่ที่ถูกบุกรุกผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งที่ 39 ของโครงการหลวง และเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการปลูกฝิ่น และการบุกรุกขยายพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด ในปี 2559 ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ได้มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เริ่มดำเนินการพัฒนาพื้นที่ร่วมวางแผน ศึกษา วิเคราะห์สภาพพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง โดยเข้าไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อนำข้อมูลมาปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมดำเนินงานพัฒนาในด้านต่าง ๆ และได้สนับสนุนงานต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งศูนย์ฯ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลการดำเนินงานพัฒนาที่ดินในพื้นที่ศูนย์ฯ อาทิ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านอนุรักษ์ดินและน้ำ ได้แก่ การสำรวจออกแบบก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำรวจออกแบบ ก่อสร้างเส้นทางลำเลียงภูเขา และระบบส่งน้ำชลประทาน การปรับปรุงและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ส่งเสริมการปรับปรุงพื้นที่ดินกรด (ปูนโดโลไมท์) ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน และส่งเสริมการเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหาร โลหะหนัก ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี นำมาสู่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ปัจจุบันไม่พบพื้นที่ปลูกฝิ่น พื้นที่เขาหัวโล้นปรับเปลี่ยนไปสู่พื้นที่สีเขียว เป็นชุมชนที่พัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง