วันที่ 28 สิงหาคม 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยมี นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำชีครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคอีสาน ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ในระยะนี้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่จึงส่งผลให้น้ำในลำน้ำชีมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปัจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 534 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 1.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เขื่อนลำปาว จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำประมาณ 667 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่าง เป็นน้ำที่สามารถใช้การได้ประมาณ 567ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 53.08 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำประมาณ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่าง เป็นน้ำที่สามารถใช้การได้ประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 3 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 0.24 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 69 แห่ง มีปริมาณน้ำประมาณ 144 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำที่สามารถใช้การได้ประมาณ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาการน้ำแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่ดังกล่าว กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 148 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 9 คัน และเครื่องจักรอื่นๆ ทั้งนี้ ยังได้สนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อทำการสูบน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจำนวน 1 เครื่อง ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในเขตพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 11 เครื่อง สำหรับป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านภัยแล้ง กรมชลประทานได้ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินการเกษตร ดำเนินการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรและเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรวมไปถึงเกษตรกรทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ใช้น้ำอย่างประหยัด และใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย เพื่อการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ นายเฉลิยชัย ศรีอ่อน ได้มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาให้ราษฎร โดย “เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร” อีกทั้งให้กรมชลประทานพิจารณาการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน เพราะน้ำคือชีวิต
………………………………………………………..
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
28 สิงหาคม 2562