สวธ.จับอบรมเข้มสู่เส้นทางนักเขียนกับศิลปินแห่งชาติ “ลายลักษณ์วรรณศิลป์” รุ่นที่ 8

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดกิจกรรมถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ “ลายลักษณ์วรรณศิลป์” รุ่นที่ 8 ระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2567 ณ หออัครศิลปิน จังหวัดปทุมธานี  เน้นการอบรมเข้มข้นด้านการเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี และกวีนิพนธ์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก 12 ศิลปินแห่งชาติผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมทรงคุณค่า อาทิ อาจารย์นันทพร ศานติเกษม เจ้าของผลงานนวนิยายดังเช่น “ตะวันทอแสง” และ “รากนครา” และอาจารย์เจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์) นักเขียนรางวัลซีไรต์จากเรื่อง “เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” รวมถึง นาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีแห่งรัตนโกสินทร์ มาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นใหม่

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. หออัครศิลปิน ปทุมธานี ในพิธีเปิด กิจกรรมถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ รุ่นที่ 8 เริ่มด้วย การแสดงชุด นาฏยวันทาบูชาครูนาฏศิลป์ไทย เรื่อง ไพจิตราสูร ตอนที่พระอินทร์แปลงเป็นอสุรอินทรา แสดงโดย อาจารย์ญาณวุฒิ ไตรสุวรรณ อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ สาขานาฏศิลป์ไทย โขนยักษ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ อำนวยการแสดงโดย ครูรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พุทธศักราช 2554

จากนั้น ประธานพิธี นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีฯ สวธ. ได้กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากศิลปินแห่งชาติให้แก่ผู้สนใจในงานวรรณศิลป์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม รวมถึงสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ช่วยจุดประกายความคิดและมุมมองใหม่ๆ ให้แก่ผู้อ่าน สามารถยกระดับความรู้และจิตใจของคนในสังคม เป็นพลังสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมและวงการวรรณกรรมของไทย ไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

นางมาดา กระดังงา ผู้อำนวยการหออัครศิลปิน กล่าวเสริมว่า การจัดอบรมในครั้งนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาทักษะให้แก่ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศ ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมุ่งเน้นการถ่ายทอดผลงาน ความรู้ และประสบการณ์ของศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์  ให้แก่  ผู้ที่มีความสนใจจำนวน 80 คน ในการเขียนนวนิยาย  เรื่องสั้น  สารคดี และกวีนิพนธ์  โดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อต่อยอดความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในด้านวรรณศิลป์ของผู้เข้ารับการอบรม ให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมในอนาคต โดยผลงานของผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และคัดเลือกเพื่อนำไปจัดพิมพ์ในหนังสือ “ลายลักษณ์วรรณศิลป์ 8” สำหรับเผยแพร่สู่สาธารณชน ต่อไป

สำหรับวิทยากรที่ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ ได้แก่ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2536  อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2548  อาจารย์เจริญ มาลาโรจน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2556 อาจารย์ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2557  อาจารย์ไพวรินทร์ ขาวงาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  (กวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2558 อาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2559 อาจารย์กิตติศักดิ์ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2559 อาจารย์จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2561 อาจารย์อรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2563 อาจารย์นันทพร ศานติเกษม ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564 อาจารย์วิชชา ลุนาชัย  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564

ทั้งนี้ ผลงานของผู้เข้าร่วมอบรมระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านการคดเลือกจากศิลปินแห่งชาติ สวธ.จะจัดพิมพ์หนังสือ ลายลักษณ์วรรณศิลป์ และนำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th  เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์สำหรับผู้ที่สนใจต่อไป