กรมควบคุมโรค เตือนโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในโค เมื่อพบเห็นสัตว์ป่วยตายผิดปกติหรือสงสัย โรคพิษสุนัขบ้า ไม่สัมผัส-ไม่ชำแหละ ไม่นำมารับประทาน

กรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง หลังปีนี้พบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข โค กระบือ และแมว เน้นย้ำป้องกันควบคุมโรคอย่างถูกวิธี ด้วยการเข้ารับวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า หลังจากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล แม้ว่าแผล จะมีขนาดเล็ก ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและเข้ารับวัคซีนตามกำหนดให้ครบโดส การชำแหละหรือรับประทานเนื้อโคดิบก็สามารถติดเชื้อได้ ย้ำการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นทางเดียวในการป้องกัน การติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่ากรมควบคุมโรค เฝ้าติดตามโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง พบรายงานสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข โค กระบือ และแมว ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ณ วันที่ 9 กรกฎาคม ระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า โดยกรมปศุสัตว์ พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 182 ตัว จากการส่งตรวจตัวอย่างทั้งหมด 3,100 ตัว กระจายตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัตว์ที่ตรวจพบเชื้อมากที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ คาดว่าสาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากถูกสุนัขจรจัดกัด จึงขอเตือนประชาชนว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรง เมื่อติดเชื้อและมีอาการปรากฏโอกาสเสียชีวิตเกือบทุกราย สาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในคนส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน แล้วไม่ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่อย่างไรก็ตาม การชำแหละเนื้อสัตว์ หรือบริโภคเนื้อดิบก็สามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้หากรับประทานหรือสัมผัสถูกบาดแผลหรือเยื่อบุช่องปาก ดังนั้นหากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายหรือเลือดกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือผิวหนังที่มีบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องจนครบโดส และควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามนัดทุกครั้ง หากได้รับเชื้อแต่ไม่ไปฉีดวัคซีน เมื่อมีอาการแสดงปรากฏจะไม่มีทางรักษาให้หายได้

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อย มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บ เสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไวต่อเสียงดัง เพ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ข้อปฏิบัติสำคัญสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเมื่ออายุ 2-3 เดือนขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง และฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไป ดุร้าย เดินเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง รวมถึงสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที เพื่อเฝ้าระวังสัตว์เป็นโรค และติดตามผู้สัมผัสสัตว์ให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค นอกจากนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในแก้ปัญหาได้ ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียนสัตว์ และไม่ถอดทิ้งสัตว์ให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ

“ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ สุนัข แมว อย่างถูกวิธี คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสัตว์เลี้ยง สุนัข แมว กัด ข่วนกัด เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าตา ปาก หรือบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ต้องป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีทันที “ล้างแผล ใส่ยา หาหมอ ฉีดวัคซีน” เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวนานถึง 3 เดือน บางรายอาจเป็นปี จึงจะแสดงอาการป่วย ซึ่งเมื่อมีอาการปรากฏจะไม่มีทางรักษาและเสียชีวิตทุกราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเร็ว” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422