สสส. เดินหน้าหนุนอาสาสร้างสุข ส่งเสริมคนรุ่นใหม่เป็นจิตอาสา ร่วมเติมพลังมหัศจรรย์สร้างภูมิคุ้มกันเด็กในสถานสงเคราะห์ รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ย้ำเด็กหนึ่งคนต้องมีแม่เป็นผู้ใหญ่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ โดยเฉพาะ 1,000 วันแรกของชีวิตมีความหมายและสำคัญยิ่ง เด็กที่มีพี่อาสาจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งกายภาพและพฤติกรรมทางอารมณ์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี มูลนิธิสุขภาพไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “วันคนอาสาสร้างสุขและเปิดบ้านเยี่ยมชมแหล่ง (ศูนย์) เรียนรู้ เพื่อส่งเสริมจิตอาสาและจุดประกายคนรุ่นใหม่ร่วมส่งมอบความสุขและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็กที่ขาดโอกาสในสถานสงเคราะห์ โดยในงานมีเวทีเสวนาความรู้พร้อมมอบเหรียญยกย่องและเป็นกำลังใจให้อาสาสมัครสร้างสุข
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า มูลนิธิสุขภาพไทย สหทัยมูลนิธิ และมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ได้ริเริ่มการส่งเสริมกิจกรรมอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ เพื่อมอบความสุขและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็กที่ขาดโอกาส โดยริเริ่มที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด (บ้านปากเกร็ด) จ.นนทบุรี เป็นแห่งแรก ด้วยการนำความรู้ด้านการนวดสัมผัสเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ มาอบรมให้อาสาสมัคร จากนั้น ได้ขยายงานอาสาสมัครไปยังสถานสงเคราะห์อื่นๆ ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่ง ตลอด14ปีที่ผ่านมา มีอาสาสมัครผลัดเปลี่ยนมาดูแลเด็กมากกว่า 2,000 คน มีทั้งอาสาสมัครระยะสั้น ระยะยาว บางคนอยู่นานถึง 10 ปี และจากการติดตามผลทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และเด็กพิเศษที่มีพี่อาสานั้นจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งกายภาพและพฤติกรรมทางอารมณ์
นางศิรทิพย์ ภาศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ กองส่งเสริมการพัฒนาการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กในสถานสงเคราะห์ต้องการบรรยากาศครอบครัว แม้ระบบในสถานสงเคราะห์ฯ น้องๆ จะได้เตรียมทุกอย่างไว้ เช่น อาหาร เสื้อผ้า แต่เด็กๆ ยังต้องการคนสอนการบ้าน และต้องการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ เพื่อไปสู่สังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะดูแลเด็กได้ทั่วถึงโดยเฉพาะเด็กในช่วง1,000 วัน ถือว่าเป็นวัยทองคำของชีวิต
ด้าน น.ส.สรียา สุกจั่น ผู้ช่วยผู้ปกครองบ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด กล่าวเสริมว่า ศูนย์เรียนรู้อาสาสมัครดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์ ไม่ได้มีเฉพาะอาสาสมัครมาดูแลเด็กเท่านั้น ยังมีอาสาสมัครล้างของเล่น ซ่อมจักรยาน ซึ่งมีกระบวนการคัดกรองผู้มาสมัคร มีบันทึกประวัติ อบรมให้ความรู้เพื่อให้มีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก โดยการดูแลเด็กเล็ก 3-5 ขวบ จะให้อาสาสมัครพาไปอาบน้ำ ป้อนข้าว แต่งตัว เน้นให้เด็กทำด้วยตัวเอง รวมทั้งพาไปทัศนาจรนอกบ้าน ช่วยให้เด็กได้รู้จักสังคมภายนอก”
ส่วน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า การทำงานของอาสาสมัครมองภาพใหญ่ คือ การสร้างคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยศักยภาพสู่สังคม ปัจจุบันตัวเลขของเด็กที่มาสู่สถานสงเคราะห์เฉลี่ยปีละ 5,000-6,000 คน ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะอัตราการเกิดน้อยลง แต่มีปัญหาใหม่เด็กต้องถูกส่งมาสถานสงเคราะห์ เพราะครอบครัวยากจนเพิ่มขึ้น แสดงถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างไรก็ตามการทำงานอาสาสมัครมา 10 ปี สสส.ได้ถอดบทเรียนของการทำงานจิตอาสาที่ต้องทำงานเป็นทีม และมีเป้าหมายร่วมกันโดยชัดเจน แล้วว่าได้ผลดี ต้องเดินหน้าต่อ เน้นให้ความสำคัญของ1,000 วันแรก ของชีวิต เทียบกับการตอกเสาเข็มให้ชีวิต
“จากผลการศึกษานานาชาติระบุว่าช่วง1,000 วันของชีวิต เด็กต้องมีแม่เป็นผู้ใหญ่ 1คนในชีวิตจริง จะเป็นใครก็ตามมาพร้อมกับการกระตุ้นพัฒนาการ เด็กจะรู้สึกว่ารับรู้ว่ามีความรักที่มั่นคง ชีวิตจะต่อยอดได้ แต่ถ้าแม่มาไม่ต่อเนื่องทำให้โตขึ้นเด็กไม่มีความมั่นใจ มีความพร่อง กลายเป็นหลุมดำของชีวิต เหล่านี้ถือว่าเป็นเดอะเบสท์ ทำให้เมื่ออายุ18ปีมีความเป็นผู้ใหญ่ที่บริบูรณ์” น.ส.ณัฐยา กล่าว
สำหรับอาสาสมัคร อย่าง มนัฐนันท์ คงคาหลวง หรือ ”จูน” วัย 40 ปี ที่ทำงานเป็นพี่เลี้ยงบ้านเด็กนนทภูมิมานานถึง 6 ปี บอกว่า ปกติทำงานประจำอยู่ที่ จ.ระยอง ทุกเสาร์อาทิตย์จะกลับมาบ้านที่จ.นนทบุรี และจะมาเป็นอาสาสมัครที่บ้านนนทภูมิ ซึ่งตัวเองเรียนจบจิตวิทยาเด็กมาจึงอยากนำความรู้มาช่วยเหลือเด็กๆ เพราะบางคนอายุเยอะแต่ร่างกายเขาเหมือนเด็ก บางคนแขนขาลีบ ขณะที่บางคนมีโอกาสได้ไปเรียนข้างนอกเราจะช่วยติวให้ สอนเรื่องการเข้าสังคม เพราะน้องอยู่ในบ้านฯ เคยเป็นผู้รับ แต่ไม่ได้เรียนรู้การให้
“คนมาเป็นจิตอาสามีหลากหลายอาชีพ เป็นครู เป็นพยาบาล ทุกคนมีเป้าเดียวกันอยากเห็นเด็กๆ มีพัฒนาการที่ดี มีรอยยิ้มที่สดใส แววตาแห่งความสุขของพวกเขา ทำให้เราเองพลอยสุขใจ และทิ้งชีวิตเครียดๆ ลงได้ และอีกสิ่งสำคัญที่ได้จากการเป็นอาสา คือ การฝึกอดทน อดกลั้นของตัวเอง เพราะการดูแลเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย ประสบการณ์เหล่านี้สอนให้เราเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองไปด้วยเหมือน” มนัฐนันท์ สะท้อนคุณค่าที่ได้รับจากการเป็นจิตอาสา
พลังของการให้จากอาสาสมัครช่วยกล่อมเกลาคนอีกกลุ่มในประเทศที่ขาดโอกาส ทำให้เขาลึกซึ้งกับคำว่ารัก และปลอดภัย อันจะส่งผลในระยะยาวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่