วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (8 ก.ค. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 37,727 ล้าน ลบ.ม. (49% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 13,787 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 38,610 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 9,495 ล้าน ลบ.ม. (38% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,799 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 15,376 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 8 – 13 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และ มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ อย่างไรก็ตามฝนยังตกไม่ต่อเนื่องและยังไม่สม่ำเสมอ จึงเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมนำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์ที่เกี่ยวข้อง นำไปวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ตามที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง เพื่อการพัฒนาภาคเกษตรของไทย ยกระดับภาคการเกษตรให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิตจนถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลกด้วยนโยบายและมาตรการที่สำคัญต่างๆ ซึ่งกรมชลประทาน นอกจากจะบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งแล้ว ยังร่วมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน ด้านปัจจัยการผลิต มีการมอบหมายให้ทุกโครงการฯ เร่งสำรวจพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 35 ล้านไร่ เป็น 40 ล้านไร่ ภายในปี 2570 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต