วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย จัดงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย
โดยภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ พิธีบวงสรวงเทพยดา เนื่องในงานมหรสพสมโภช เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.19 น. ณ ท้องสนามหลวง และการเดินริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วย ริ้วขบวน 26 ขบวน ซึ่งมีทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ข้าราชการ ผู้แทนภาคเอกชนและประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมกว่า 3,000 คน เส้นทางเดินริ้วขบวนเริ่มจากบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ไปยังท้องสนามหลวง การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ทศมินทรราชา 72 พรรษา มหาวชิราลงกรณ” และการแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติ “มหาทศมินทรราชา” การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ เช่น การแสดงอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เฉลิมพระเกียรติ ชุด “รวมใจภักดิ์ ถวายพระพร” การแสดง “มหาดุริยางค์ไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” การแสดง “โนราศิลปินแดนทักษิณเฉลิมพระเกียรติ” การแสดงโขน “สมเด็จพระรามาครองเมือง” การแสดงพื้นบ้าน “เรืองรองสุขเกษมทั่วถิ่นไทย” การแสดง ”มหานาฏกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ” การแสดงดนตรี ”มหาดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ” และการแสดงละครเพลง “เทิดไท้ทศมินทรราชา” เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ภายในงานยังมีตลาดวัฒนธรรมกว่า 200 บูธ มาจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) จาก 76 จังหวัด อาทิ กระเป๋าใยตาลโหนดทิ้ง จากภูมิปัญญามาเป็นกระเป๋าสุดทันสมัย จากชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมสทิงพระ จังหวัดสงขลา ผ้าฝ้ายปักลายวิถีชีวิตล้านนา งานปักมือปราณีตที่ใช้หัวใจทำทุกชิ้นงาน ลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผืนผ้ามีเอกลักษณ์ความงามซึ่งนำมาประยุกต์ให้ทันสมัย จากชุมชนคุณธรรมบ้านหนองสมณะใต้ จังหวัดลำพูน ผ้าทอไทลื้อ เป็นผ้าฝ้ายทอด้วยมือ มีความสวยงาม โดดเด่นในความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าชาวไทลื้อ จากชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมบ้านหล่ายทุ่ง จังหวัดน่าน และผ้ามัดหมี่ย้อมคราม นำมาตัดเย็บได้งดงามสะท้อนเอกลักษณ์แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง สามารถสวมใส่ ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน จากชุมชนคุณธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารไทย 76 จังหวัด จำหน่ายของดีสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครและผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวัฒนธรรมอื่นๆ นอกจากนี้มีการสาธิตอาหารในรูปแบบตลาดย้อนยุค เช่น อาหารไทยโบราณ อาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น และสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น นวดไทย ลงรักปิดทอง ทำว่าวไทย กรองดอกไม้ แกะสลักผักผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้การจัดตลาดวัฒนธรรมมีเป้าหมายเพื่อนำวัฒนธรรมไทยมาสืบสาน รักษา และต่อยอดไปสู่มิติใหม่ๆ ให้เกิดการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทย ตลอดจนสนับสนุนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ที่สำคัญเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้านให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปะวัฒนธรรมของไทย ที่สำคัญยังเป็นการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจวัฒนธรรมในการยกระดับผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ด้วย