“กรมทะเล” จับมือเครื่องสำอาง “มิสทิน” ลุยพื้นที่เกาะเต่าดึงเครือข่ายชาวสุราษฎร์ฯ ร่วมกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะฟื้นฟูแนวปะการัง รักษาระบบนิเวศท้องทะเลไทยให้ยั่งยืน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2567 นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานเปิดโครงการมิสทินร่วมใจรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวของไทย ครั้งที่ 2/2567 (กิจกรรมฟื้นฟูปะการังโดยการดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง) ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีคุณดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล คุณปราการ สท้านโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายวัชรินทร์ ฟ้าสิริพร นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่า ตลอดจนคณะผู้บริหารจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มิสทิน) ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชมชน ภาคเอกชน ตำรวจภูธรภาค 8 นักท่องเที่ยว นักดำน้ำจิตอาสาทั้งในและนอกพื้นที่ ผู้แทนชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะเต่า ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม ณ บริเวณอ่าวลึก ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี

ภายหลังจากพิธีเปิดนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า ปัญหาแนวปะการังเสื่อมโทรมและการเพิ่มปริมาณของขยะทะเล นับเป็นปัญหาระดับประเทศ รวมไปถึงช่วงนี้เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วประเทศและต่อไปมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปียากแก่การแก้ไข กรม ทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังของประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ อาสาสมัครและผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะช่วยปะการังให้รอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ดังนั้น การจัดกิจกรรมฟื้นฟูปะการังโดยการดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สอดคล้องกับภารกิจสำคัญของกรม ทช. ที่ต้องเร่งหาทางฟื้นฟูปะการังและแก้ไขปัญหาปะการังฟอกขาว รวมถึงการลดขยะที่ปกคลุมปะการัง ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังอันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปะการังได้ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่กรม ทช. ได้เสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสนองพระดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยฯ ที่พระองค์ทรงห่วงใยปัญหาความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง อยากเห็นทุกฝ่ายร่วมมือกันอนุรักษ์แนวปะการังของไทย ที่ผ่านมากรม ทช. และบริษัท มิสทิน ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการังในผลิตภัณฑ์กันแดด เพื่อรักษาแนวปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยงดการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย อีกทั้งมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภค ปะการัง และสิ่งแวดล้อมทางทะเล ช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังและส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวตามแนวปะการังของประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ สู่สายตาชาวโลก

นายชิดชนก รองอทช. กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่มีการดำเนินงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กรม ทช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและแนวปะการัง จึงมอบหมายให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับบริษัท มิสทิน จัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการังขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการ “มิสทินร่วมใจรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวของไทย” ซึ่งมีเป้าหมายจัดกิจกรรมฟื้นฟูและเก็บขยะบริเวณแนวปะการังใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และเกาะล้าน จ.ชลบุรี โดยครั้งนี้ได้กำหนดจัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการังในพื้นที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเกาะเต่าเป็นแหล่งผลิตดำน้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีแนวปะการังที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2567 โดยภายในงานได้มีกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการัง การมอบเงินโครงการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายอาสาสมัครดำน้ำและชุมชนชายฝั่งในการอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการังให้แก่เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง พื้นเกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต และเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี จากมูลนิธิดร.อมรเทพ ดีโรจนวงศ์ รวมจำนวน 200,000 บาท การมอบอุปกรณ์เก็บขยะ เสื้อปฏิบัติการใต้น้ำผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดมิสทินให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมและนักดำน้ำอาสาสมัคร การมอบป้ายสนับสนุนโครงการชมรมครูสอนดำน้ำคนไทยและชุมชนชายฝั่ง จ.สุราษฎร์ธานี กิจกรรมฟื้นฟูปะการังโดยการดำน้ำเก็บขยะ และกิจกรรมเข้าเรียนรู้บริเวณศูนย์การเรียนรู้รักษ์แบนเกาะเต่าที่ปันรักษ์ฟาร์ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กรม ทช. ต้องขอขอบคุณ บริษัท มิสทิน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล และให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อีกทั้งขอบคุณผู้ประกอบการ นักดำน้ำอาสาสมัครทุกท่านที่มาร่วมกันพิทักษ์รักษาทะเล สร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูแนวปะการัง และที่สำคัญต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันลดผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการังของไทย ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ลดการใช้ครีมกันแดดที่มีสารอันตรายต่อแนวปะการัง ตลอดจนช่วยกันเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวดำน้ำที่จะทำร้ายแนวปะการัง และการทำประมงผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่แนวปะการัง ดังนั้นหากพบเจอการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายให้รีบแจ้งไปยังสายด่วนพิทักษ์ป่า และรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบได้ทันท่วงที

ด้าน คุณปราการ สท้านโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในนามผู้ผลิตเครื่องสำอางมิสทิน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะระบบนิเวศปะการังอันเป็นทรัพยากรสิ่งมีชีวิตชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำนานาชนิด โดยที่ผ่านมาบริษัท มิสทิน ได้ร่วมกับกรม ทช. จัดกิจกรรมฟื้นฟูปะการังโดยการดำน้ำเก็บขยะบริเวณแนวปะการังขึ้นเป็นครั้งแรกที่เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต และในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ลงพื้นที่มาจัดกิจกรรมที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ในการสนับสนุนกฎหมายไม่ใช้สารต้องห้ามในครีมกันแดดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่แนวปะการังของไทย สำหรับกิจกรรมในวันนี้ บริษัท มิสทิน ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท มิสทิน ประเทศไทย บริษัท มิสทิน ประเทศจีน และมูลนิธิ ดร. อมรเทพ ดีโรจนวงศ์ อีกทั้งยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์กันแดด กำลังพล อุปกรณ์เก็บขยะ เสื้อปฏิบัติการดำน้ำให้กับกรม ทช. ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังและระบบนิเวศทางทะเลต่อไป