ปปง. ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

วันที่ 5 กรกฎาคม 2567  นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า ตามที่ ประชาชนได้มีการสอบถามมาที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เกี่ยวกับขั้นการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิฯ ที่ถูกต้อง รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้านข้อมูลข่าวสาร สำนักงาน ปปง. ขอชี้แจงดังนี้

กระบวนการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

1. กรณีที่สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการเปิดรับคำร้องขอคุ้มครองสิทธิฯ ในรายคดีที่สำนักงาน ปปง. ดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด

2. นักงาน ปปง. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ratchakitcha.soc.go.th

เว็บไซต์สำนักงาน ปปง. amlo.go.th

3. สำนักงาน ปปง. เปิดรับคำร้องฯ โดยให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ พร้อมหลักฐาน ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีประกาศฯ ตามช่องทางที่สำนักงาน ปปง. กำหนด โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำร้องฯ ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน โดยพิจารณาข้อมูลของผู้เสียหายเทียบกับข้อมูล ในราชกิจจานุเบกษาต้องตรงกัน ดังนี้

  • พฤติการณ์กระทำผิดของคนร้าย
  • ช่วงเวลาที่มีการกระทำผิด
  • เลขคดีอาญาของพนักงานสอบสวน
  • ในคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชื่อบัญชีหรือเลขบัญชีธนาคารต้องตรงกัน

ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่าเป็นผู้เสียหายที่มีสทธิยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้

4. ช่องทางการยื่นคำร้อง มีดังนี้

  • ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
  • ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน จ่าหน้าซองมาที่สำนักงาน ปปง. เลขที่ 422 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  • ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (ดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา)

5. หลักฐานประกอบการยื่นคำร้องฯ ประกอบด้วย

– ต้องแนบหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

  • สำเนาคำพิพากษาให้มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย
  • สำเนาหลักฐานการร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญา
  • สำเนาหลักฐานการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

– หลักฐานอื่นตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดและภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด (ดูได้จากประกาศราชกิจจานุเบกษา)

6. สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบคำร้องฯ และจัดทำความเห็นเกี่ยวกับความเสียหาย เสนอเลขาธิการ ปปง. เพื่อเสนอคณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็น

7. เลขาธิการ ปปง. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะได้รับเงินชดใช้คืนเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้เสียหายได้รับเงินชดใช้คืนแทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

ผู้ทั้งนี้ เสียหายสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินการกับทรัพย์สินได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือโทรสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710