อ.อ.ป. เตรียมพัฒนา “สวนป่าเศรษฐกิจทางภาคใต้” เป็นศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เล็ง “สวนป่ากะเปอร์” จ.ระนอง นำร่อง

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เร่งต่อยอดพัฒนางานสวนป่าเศรษฐกิจ “สวนป่ากะเปอร์”ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ใน จ.ระนอง เพื่อสานต่อนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างและปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า “สวนป่ากะเปอร์” อยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคใต้ ตั้งอยู่ใน ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง มีพื้นที่ 2,646.45 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนปลูกไม้เศรษฐกิจ จำนวน 298.54 ไร่ โซนไม้อนุรักษ์และป่าพรุ จำนวน 2,347.91 ไร่ เป็นสวนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อุดมไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ประจำถิ่นมากมาย จึงเป็นสวนป่าที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาและต่อยอดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าดงดิบชื้น ป่าพรุ ให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาระบบได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในพื้นที่ของสวนป่ากะเปอร์ ยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกเขาพระนารายณ์ น้ำตกที่มีทัศนียภาพงดงาม มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี จากความสูง 11 ชั้น ไล่ระดับลดหลั่นลงมาตามไหล่เขา ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับใช้อุปโภค บริโภค ของชุมชนใน อ.กะเปอร์ รวมถึงประเพณีและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย

อ.อ.ป. จึงได้เล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเรียนรู้เชิงระบบนิเวศของ อ.กะเปอร์ โดยอาศัยความเข้มแข็งจากภายในชุมชนผ่านการท่องเที่ยว เพื่อให้คนไทยรักและภาคภูมิในประเพณี วัฒนธรรมถิ่นกำเนิด สร้างความต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ ผ่านศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ผอ.อ.อ.ป. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การดำเนินงานพัฒนาสวนป่ากะเปอร์แล้ว ในชั้นต้นนี้ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เรือนพักนักท่องเที่ยว และเส้นทางสัญจรแล้วกว่า 50% ซึ่งคาดว่าในปี 2563 จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานได้จริง นอกจากนี้ “สวนป่ากะเปอร์” แห่งนี้ยังจะสามารถใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เชิงนิเวศและประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนในเขตภาคใต้อีกแห่งหนึ่ง