กระทรวงยุติธรรม โดย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เชิดชูเกียรติ ‘กรรมการสงเคราะห์’ ที่ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาต่อไปในอนาคต

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิด “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจ ประจำปี 2567” โดยมี นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นางนลินนาถ ไกรนรา รองอธิบดีฯ ฝ่ายปฏิบัติการ นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีฯ ฝ่ายบริหาร คณะกรรมการสงเคราะห์ฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกรมพินิจฯ ผู้แทนองค์กรเครือข่าย และเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติกรรมการสงเคราะห์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 510 ท่าน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าภาคประชาสังคมไม่ได้ทอดทิ้งเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด อีกทั้งยังให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้แก้ไขปรับปรุงตนเองไม่ให้กระทำผิดซ้ำ รวมทั้งมอบนโยบาย และทิศทางการดำเนินงานของกรมพินิจฯ ให้แก่ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมฯ และสถานพินิจฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานกรรมการสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ดอนเมือง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

โอกาสนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า เด็กและเยาวชน คือทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด และเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต สหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ข้อ 2 ความว่า “เด็กมีความสำคัญมาก จึงควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ดังนั้นเมื่อเด็กกระทำผิด จึงไม่ควรถูกลงโทษแบบเดียวกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะเด็กทำความผิดด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเป็นเพราะสภาพแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ บีบบังคับ เช่น ความยากจนทำให้เด็กต้องลักขโมย การคบเพื่อน การถูกหลอก ถูกชักชวน ให้เสพยาเสพติดจนถูกจับในที่สุด เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในปัจจุบันแล้วว่า ความผิดที่เด็กทำนั้นแตกต่างกับความผิดที่ผู้ใหญ่ทำ ทั้งในแง่เจตนา และการกระทำ” ดังนั้น การช่วยเหลือพัฒนาเด็กที่กระทำความผิดจึงจำเป็นต้องมีความพิเศษ และแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กสามารถกลับตัว กลับใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับสู่สังคม เพื่อไปเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต

“เป้าหมายของกระทรวงยุติธรรม มุ่งหวังจะปรับเปลี่ยนแก้ไขพฤติกรรมและคืนคนดีสู่สังคม โดยบูรณาการความร่วมมือภาคประชาสังคมในการดำเนินงาน ผมเชื่อว่า กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพในการประคับประคองและมอบโอกาสที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้กลับไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และขอแสดงความยินดีกับกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนทุกท่านที่ได้รับรางวัลกรรมการสงเคราะห์ดีเด่น ทั้งในระดับกรม ระดับดีมาก และระดับดี พร้อมทั้งขอขอบคุณและชื่นชมในความเสียสละ ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ในการคืนคนดีสู่สังคมต่อไป” รมว.ยุติธรรม กล่าวปิดท้าย

ด้าน พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า “ปัจจุบันมีกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทั่วประเทศ จำนวน 2,543 คน ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือทุกท่านได้ร่วมดำเนินงานและอยู่เคียงคู่กับกรมพินิจฯ มาเป็นเวลานาน โดยปรากฏคำว่า ‘กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน’ ครั้งแรกในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 3 กรกฎาคม 2494 มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือแก่ผู้อำนวยการสถานพินิจ และช่วยเหลือกิจการสถานพินิจเพื่อสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้มีการปรับปรุงเรื่อยมา แต่ยังคงปรากฏบทบาทหน้าที่ของกรรมการสงเคราะห์ จวบจนปัจจุบัน”

นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมพินิจฯ ได้มอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณแก่กรรมการสงเคราะห์ ใน “พิธีเชิดชูเกียรติกรรมการสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี 2566” ประกอบด้วย กรรมการสงเคราะห์ดีเด่น ระดับกรม จำนวน 48 ท่าน ระดับดีมาก จำนวน 102 ท่าน และระดับดี จำนวน 258 ท่าน พร้อมทั้งร่วมรับชมการแสดงโขน ชุด “ยกทัพ” และการแสดงโขน ประกอบเพลง “ตัวร้ายที่รักเธอ” จากผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษธนบุรี และเยี่ยมชมบูธนิทรรศการแสดงผลงานของเครือข่าย จำนวน 6 บูธ ได้แก่ บริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) เรือนจำพิเศษธนบุรี ทัณฑสถานหญิงธนบุรี บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และกรมสุขภาพจิต ตลอดจนร่วมชมผลิตภัณฑ์และให้กำลังใจเด็กและเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมฯ หญิงบ้านปรานี ที่มาให้บริการเครื่องดื่มแก่แขกผู้มาร่วมงาน และบริการเพ้นท์เล็บแก่ผู้ที่สนใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนของกรมพินิจฯ อีกด้วย