“THAICID” ขับเคลื่อนงานชลประทานอย่างยั่งยืน มุ่งเสริมสร้างระบบชลประทานแบบ SMART และการมีส่วนร่วมรองรับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

“THAICID” ร่วมกับ กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมไทยไอโอที วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิศวกร และสมาคมนักอุทกวิทยาไทย เครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและเอกชน เปิดเวที งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID-NWIKS 2024 เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 2567 ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการพร้อมสุดยอดนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 2567 (The THAICID Network Week for Integrated Knowledge Sharing 2024 : THAICID-NWIKS 2024) โดยมีนายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมชลประทาน คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) เปิดเผยว่า “งานสัปดาห์เครือข่าย THAICID เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการ ประจำปี 2567” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2567 ณ สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) กรมชลประทาน สมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการและเอกชน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีหรืองานวิจัยทางด้านการชลประทานและการระบายน้ำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สังคมไทยสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในอนาคต “โดยหัวใจหลักของงาน คือการเสริมสร้างระบบชลประทานแบบ SMART และมีส่วนร่วมเพื่อรองรับกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ (The Promotion of Smart and Participatory Irrigation Management for Coping with Global Uncertainty and Extreme Climate Variability) โดยคาดหวังว่า ผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะนำมาซึ่งองค์ความรู้และแนวทางขับเคลื่อนงานชลประทานและการระบายน้ำให้สามารถเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยให้ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม มีความเข้มแข็งของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่ปรับตัวให้เท่าทันกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ หมายรวมถึงสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย”

สำหรับกิจกรรมภายในงาน THAICID-NWIKS 2024 “มีการประชุมวิชาการระดับชาติ 17th THAICID National Symposium 2024 นำเสนอแนวการเสริมสร้างระบบชลประทานแบบ SMART และมีส่วนร่วมเพื่อรองรับกระแสความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ จากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งการเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ AWD Field Talk (Chapter5) เรื่องเล่าจากแปลงนา “ไปต่อ… นาเปียกสลับแห้ง เพิ่มรายได้ ลดโลกร้อน ” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเสวนาวิชาการ Chapter 4 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ดงตาล Software Days ภายใต้หัวข้อ”Digital Transformation for Adaptation on Climate change” นำเสนอผลงานความสำเร็จของการนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ จากวิทยากรที่มีประสบการณ์การใช้งานโดยตรง พร้อมด้วยการนำเสนอผลงานทางวิชาการ สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเพิ่มความแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำ อีกหนึ่งสีสันในงานยังสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าผลผลิตทางการเกษตรได้อีกด้วย ดังนั้นจะเห็นว่า งาน THICID-NWIKS ล้วนเกิดจากการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพลิกโฉมการชลประทานเพื่อความยั่งยืนในอนาคต”