กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังอันตรายช่วงลมมรสุม แนะวิธีเตรียมความพร้อม และป้องกันให้ปลอดภัย

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนและลมมรสุม มีฝนตกหนักและลมแรงในบางพื้นที่ ประชาชนควรระมัดระวังการอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ใกล้ต้นไม้สูงใหญ่ หรือป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง เพราะอาจเกิดการหักโค่นล้ม หรือหล่นทับ ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ควรวางแผนการเดินทางและสังเกตอาคารที่กำบัง ที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย และติดตามพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ การเดินเรือหรือกิจกรรมทางน้ำควรระวังคลื่นลมแรง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ควรตั้งสติและขอความช่วยเหลือ

กรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชนเตรียมตัวป้องกันอันตรายช่วงลมมรสุม ดังนี้ 1.ติดตามพยากรณ์อากาศ 2.สังเกตท้องฟ้า เมื่อเห็นว่าฝนใกล้จะตกให้รีบกลับเข้าบ้านหรือหาที่หลบ 3.ตัดกิ่งไม้หรือต้นไม้ที่มีความเสี่ยงที่จะหัก ซึ่งอาจเกิดอันตรายทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ 4.ตรวจสอบบ้านเรือนให้มั่นคงแข็งแรง 5.จัดเก็บสิ่งของในบ้านที่อาจเสียหายหรือปลิวตามกระแสลมได้  6.ติดตั้งสายดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้า 7.ตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้ารั่ว  8.จัดเตรียมของใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย ยา อาหารแห้ง 9.วางแผนการเดินทางและสังเกตอาคารที่กำบังที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย 10.เมื่อพบเห็นเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาชำรุด​ หรือไม่แข็งแรงให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 11.หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางน้ำหรือการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง 12.ระมัดระวังการลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดที่มีการเตือนคลื่นทะเลดูด (Rip current)

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อว่า ในกรณีที่พบพายุฝน-ลมแรง ควรมีการป้องกันตนเองให้ปลอดภัย ดังต่อไปนี้ 1.หากอยู่ในบ้านให้รีบปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด  2.ปลดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ออก 3.หากอยู่ข้างนอกให้รีบเข้าไปในอาคารหรือที่กำบังที่แข็งแรง 4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรืออาคารที่โครงสร้างที่ไม่แข็งแรง 5.อยู่ห่างจากวัตถุหรือรั้วที่เป็นโลหะ 6.งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือสื่อสาร 7.หากกำลังตกปลาหรือว่ายน้ำให้ขึ้นจากน้ำทันที​ และออกห่างจากแหล่งน้ำ 8.หากอยู่บนรถให้หาที่จอดที่ปลอดภัย 9.อยู่ภายในอาคารหรือที่กำบังอย่างน้อย 30 นาทีหลังจากพายุฝนได้สงบลง เพราะยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่า​ 10.เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

หากพบเห็นผู้บาดเจ็บ ควรให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว โดยประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของที่เกิดเหตุ และโทรขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 พร้อมแจ้งข้อมูลผู้บาดเจ็บ​และสถานที่เกิดเหตุให้ทราบ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422