วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร “ธรรมาภิบาลการบริหารจัดการทางทะเลและมหาสมุทรและการดำเนินการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลและตราสารที่เกี่ยวเนื่อง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 5” ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต โดยมีพลเรือโท สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด โอกาสนี้ Ms. Antonello Vassallo ผู้จัดการสถาบันมหาสมุทรระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ (IOI-HQ) ดร.อนุวัฒน์ นทีวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมสถาบันมหาสมุทรระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (IOI-Thailand Training Centre) และนายวัฒนะชัย เพชรฐิติวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับ Dr. Yves Henocque ผู้อำนวยการหลักสูตร ได้กล่าวถึงหลักสูตร รวมทั้งชี้แจงโครงสร้างกระบวนการฝึกอบรม และนายสัญชัย ตัณฑวณิช ผู้จัดการหลักสูตร ได้แนะนำการจัดการหลักสูตรและคณะทำงานอีกด้วย
ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวหลังจากเปิดการฝึกอบรมดังกล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับ IOI เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและประสานความร่วมมือด้านธรรมาภิบาลมหาสมุทรในทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมในระดับภูมิภาคทะเลตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างประเทศด้านธรรมาภิบาลมหาสมุทร ผ่านการแลกเปลี่ยนการดูงาน ความร่วมมือด้านการวิจัย และกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการในการเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าว กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ IOI จะต้องร่วมกันจัดทำแผนการประสานความร่วมมือระยะ 5 ปี และกิจกรรมเพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ รวมถึงการจัดโครงการฝึกอบรมประจำปีด้านธรรมาภิบาลมหาสมุทรระดับภูมิภาค โดย IOI Thailand มีแผนจัดโครงการฝึกอบรมประจำปี 2567 รวมจำนวน 3 ครั้ง
สำหรับโครงการฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร “ธรรมาภิบาลการบริหารจัดการทางทะเลและมหาสมุทรและการดำเนินการตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลและตราสารที่เกี่ยวเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย ประจำปี 2567” ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐจากประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย รวมจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรม ระยะเวลาหนึ่งเดือน ที่จะให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับธรรมาภิบาลโลก (global governance) โดยมุ่งเน้นกรอบการบริหารจัดการมหาสมุทรในระดับภูมิภาค (regional ocean governance frameworks) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย (the Southeast Asian and the Indian Ocean) ทั้งนี้ เนื้อหาของหลักสูตรจะครอบคลุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (the United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) และสนธิสัญญาและตราสารที่เกี่ยวข้อง (related Treaties and instruments) เช่น การประมง มลพิษทางทะเล การอนุรักษ์และความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขนส่งและการเดินเรือทางทะเล การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล และกิจกรรมในเขตพื้นที่ จากการฝึกอบรม คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมจะมีความเข้าใจระบบธรรมาภิบาลโลก (global governance system) รวมถึงการประยุกต์ใช้ในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนความต้องการด้านขีดความสามารถ อีกทั้งตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) และสนธิสัญญาและตราสารที่เกี่ยวข้อง (retated Treaties and instruments) เข้าใจภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของประเทศต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบต่อกิจกรรมของรัฐบาล ธุรกิจ และชุมชนอย่างไร รวมถึงวิธีการนำไปปฏิบัติในระดับชาติและท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สามารถอธิบายเกี่ยวกับตราสารระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ การสนับสนุนจากองค์กร และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น การประมง มลพิษทางทะเล ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถตรวจสอบและประเมินประเด็นต่าง ๆ ในการอภิบาลได้อย่างเสรี และมีส่วนร่วมในการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ (emerging) และประเด็นร่วมสมัย (contemporary) ในสาขานี้ “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว“