รองอธิบดีกรมชลฯ เร่งเครื่องโครงการก่อสร้างประตูระบายแม่น้ำตรัง ยืนยัน พร้อมใช้ทันปี 63

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 นายประเสริฐ วงศ์นราทิพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตรัง เข้าร่วมประชุมหารือกับ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จังหวัดตรัง พระครูปัญญาวัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนาเมืองเพชร นายณัฐพงษ์ เนียมสม นายกเทศมนตรี ตำบลนาตาล่วง พร้อมด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ณ ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชั่วคราว โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี คิดเป็นพื้นที่ 10,525 ไร่

จากสถิติข้อมูลฝนตกหนักในรอบ 25 ปี ศักยภาพแม่น้้าตรังสามารถรับน้ำได้ประมาณ 720 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีปริมาณน้ำไหลหลากสูงถึง 1,467 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ โดยเฉพาะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2531, พ.ศ. 2548, พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2554

กรมชลประทาน เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จึงพิจารณาทบทวนผลการศึกษาเดิม โดยได้จัดทำแผนงานการศึกษาในปีงบประมาณ 2556 และจัดทำรายงานวางโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งมีลักษณะเป็นเป็นการขุดคลองผันน้ำ ความยาว 7.55 กิโลเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำหนองตรุด บริเวณต้นคลองผันน้ำ และประตูระบายน้ำคลองช้างบริเวณปลายคลอง สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ควบคุมปริมาณการระบายน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการฤดูฝนประมาณ 10,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการช่วยผลักดันน้ำเค็มในฤดูแล้งเพื่อรักษาระบบนิเวศอีกด้วย

 

ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมชลประทานมีแผนงานก่อสร้างคลองผันน้ำและอาคารประกอบ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง โดยได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 แต่เนื่องจากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ กรมชลประทาน จะเร่งรัดดำเนินการทุกกระบวนการและจะเริ่มดำเนินการใหม่ให้ได้ใน มกราคม 2563