28 มิถุนายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ (Thailand Zero Dropout) ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงทั้ง 10 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงแรงงาน (รง.), กระทรวงยุติธรรม (ยธ.), กรุงเทพมหานคร, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) และกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นผู้แทนลงนาม
รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทย ที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้ประชาคมทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ ได้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ของประชากรเด็กและเยาวชนทุกคนอย่างแท้จริง
โดยหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นแกนนำร่วมกันในการบูรณาการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี เป็นรายบุคคล ระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษาทั้ง 21 หน่วยงานทั่วประเทศ กับฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทย พบว่าปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา ยังมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าว กว่า 1.02 ล้านคน (หนึ่งล้านสองหมื่นคน) ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน
ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงมีมติรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout โดยมี 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่
1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม
3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง
4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn
ในการนี้ รัฐบาลได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการค้นหา ติดตาม และดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพเพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะ Kick off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยมี Application “Thai Zero Dropout” สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้า
กระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทความรับผิดชอบสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ คือ มอบหมายให้ทุกส่วนราชการในสังกัด ศธ. ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ อาทิ สนับสนุนข้อมูลนักเรียน นักศึกษา ในทุกสังกัด เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการฐานข้อมูลของเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบการศึกษา สนับสนุนทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการสำรวจค้นหาและให้ความช่วยเหลือให้กับเข้าสู่ระบบการศึกษา สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ รวมถึงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นในรูปแบบอื่น หรือได้รับการพัฒนาและการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมและความช่วยเหลือทุกมิติ และสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการและสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนตามบริบทของพื้นที่ ป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้
“การเดินหน้าสู่ Thailand Zero Dropout จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล จากนี้ไปเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกคนจะอยู่ในฐานข้อมูลของรัฐบาล และจะได้รับการค้นหา ช่วยเหลือในทุกมิติปัญหา เพื่อส่งต่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของทุกคน เพราะเด็กทุกคนคืออนาคต และเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของประเทศไทย และของคนไทยทุกคน“
นายไกรยส ภัทรวาส ผู้จัดการ กสศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน หนึ่งในนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาคือ ภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันเป็นที่มาของมาตรการ Thailand Zero Dropout ที่มีเป้าหมายในการค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง รวมทั้งช่วยเหลือ ส่งต่อ ดูแล ให้เด็กเยาวชนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกมิติปัญหาเป็นรายบุคคล
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน เริ่มต้นจากการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลใน 21 หน่วยจัดการศึกษา จากระบบฐานข้อมูลกลางของกระทรวงศึกษาธิการ EDC: Education Data Center กับฐานข้อมูลรายบุคคล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ทำให้พบตัวเลขเด็กและเยาวชนอายุ 3 – 18 ปี ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวน 1.02 ล้านคน
กสศ. ในฐานะเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ได้สนองรับนโยบายฯ ในการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนและเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา นำไปสู่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต สำหรับ Roadmap เบื้องต้นที่ กสศ. วาดแผนไว้ เริ่มจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการด้วยบันได 5 ขั้น สู่ Thailand Zero Dropout ได้แก่
ขั้นที่ 1 สำรวจข้อมูลเด็ก Dropout พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษารายบุคคล/พื้นที่ อย่างต่อเนื่อง, ขั้นที่ 2 เด็ก Dropout ได้รับการติดตามช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือสหวิชาชีพ, ขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น โดยมีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เช่น โรงเรียนมือถือ แพลตฟอร์มอาชีพ ระบบนิเวศการเรียนรู้ โครงการ 1 โรงเรียน 3 ระบบ, ขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนได้รับการส่งต่อผ่านหุ้นส่วนการศึกษา (All for education) ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่ การระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่ และขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตต่อไป