นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา เดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ด้านเฟสติวัลและด้านท่องเที่ยว ด้วยมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ตักบาตรหาบจังหัน ในวันที่ 29 มิถุนายน 2567 ณ วัดหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ด้วยการบ่มเพาะปลุกจิตสำนึกศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาติ กระตุ้นให้พุทธศาสนิกชนยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญเป็นประจำทั้งในวันพระและวันสำคัญทางสถาบันเพิ่มมากขึ้น เสริมสร้างความอบอุ่นและความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน และสามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นำสินค้าวัฒนธรรมของชุมชนมาจัดจำหน่าย อาทิ อาหารพื้นเมือง เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
สำหรับกิจกรรม “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ “ประเพณีการหาบสาแหรก” ของชุมชนคุณธรรมบ้านหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประเพณีท้องถิ่นที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยคำว่า “จังหัน” หมายถึงภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์ ในยามเช้า ขณะที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาตตอนเช้าชาวบ้านจะตักบาตรด้วยข้าวสวยอย่างเดียว ส่วนอาหารคาว-หวาน จะมีนางหาบ/นายหาบ แต่งตัวชุดลาวเวียงวันละ 5-10 คน ทำหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนหาบอาหารด้วยสาแหรกเดินตามพระเข้าวัด ซึ่งอาหารคาว-หวานที่หาบไป จะได้จากชาวบ้านนำอาหารไปวางไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลัง โดยนางหาบ/ นายหาบ จะเดินเก็บอาหารตามแป้นเสาหน้าบ้านแต่ละหลังไปตามเส้นทางไปจนถึงวัด จากนั้นจะนำอาหารหรือจังหันถวายพระที่วัดในตอนเช้า ถือเป็นการเชื่อมบุญมาสู่คนในชุมชน หลังจากถวายพระแล้ว นางหาบ/นายหาบ จะนำภาชนะใส่อาหารกลับไปวางคืนไว้ที่แป้นเสาหน้าบ้านของแต่ละหลังตามเดิม ซึ่งจะปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันพระหรือสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะไปตักบาตรที่วัด นอกจากนี้ ยังมีถนนสายวัฒนธรรมชุมชนลาวเวียง เป็นการจำลองตลาดย้อนยุคของชาวลาวเวียง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวลาวเวียงแบบดั้งเดิม ทั้งด้านการแต่งกาย ภาษา และอาหาร ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของคนลาวเวียงจันทร์ และรักษาประเพณีวัฒนธรรมแบบชาวลาวเวียงให้คงอยู่จนปัจจุบัน โดยร้านค้าทุกร้านแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองตั้งร้านจำหน่ายสินค้า ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวเวียง ใช้วัสดุทางธรรมชาติเป็นภาชนะใส่อาหารแทนกล่องโฟม สินค้าที่จำหน่ายภายในตลาด เป็นสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์และอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม งานประดิษฐ์ งานแฮนด์เมด และของที่ระลึก ให้กับพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว เป็นการค้าขายในรูปแบบวิถีชีวิตของชาวตำบลเมืองเก่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และประวัติศาสตร์รวมทั้งวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม มีความหลากหลายทางความเชื่อ และวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลาย กระจายรายได้ให้ประชาชนในชุมชน ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมการศาสนา (อศน.) กล่าวต่อว่า กรมการศาสนา ได้ขยายผลสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทำบุญตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ที่วัดและแหล่งศาสนสถานต่าง ๆที่มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์โดดเด่นทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม โดยเปิดจุดเช็กอิน 10 เสบียงบุญ ประกอบด้วย 1. ตักบาตรทางเรือ วัดบำเพ็ญเหนือ กรุงเทพมหานคร 2. ตักบาตรริมโขง วัดมหาธาตุ จังหวัดนครพนม 3. ตักบาตรข้าวเหนียว วัดศรีคุนเมือง จังหวัดเลย 4. ตักบาตรหน้าวัด วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช 5. ตักบาตรสะพานบุญรับอรุณ วัดตระพังทอง จังหวัดสุโขทัย 6. ตักบาตรบนเมก วัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ 7. ตักบาตรหมู่บ้านมอญห้วยน้ำใส จังหวัดราชบุรี 8.ตักบาตรหาบจังหัน วัดหาดสองแคว จังหวัดอุตรดิตถ์ 9.ตักบาตรพระขี่ม้า วัดถ้ำป่าอาชาทอง 10.ตักบาตรสะพานซูตองเป้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่สะท้อนความศรัทธาและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น และยังรณรงค์ให้ประชาชนหันกลับมาใช้ตะกร้าเป็นภาชนะใส่ของตักบาตรเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้สืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยในอดีต ด้วยการเข้าวัดในวันธรรมสวนะ และสนับสนุนสินค้าของชุมชนบริเวณรอบวัด สร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน เป็นการส่งเสริม soft power ในมิติศาสนา ด้วยพลังศรัทธาจากท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กรมการศาสนาได้เชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมและให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำบุญตักบาตรไหว้พระ เจริญจิตภาวนา เสริมสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและครอบครัว นอกจากผู้มาทำบุญและนักท่องเที่ยวจะรู้สึกอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มเอมใจที่ได้เที่ยวชมอุดหนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงนำมาจัดจำหน่าย เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เกิดกระแสเงินหมุนเวียน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและทุนแห่งศรัทธา ที่เป็นทุนทางสังคมได้ทางหนึ่ง จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนตลอดจนนักท่องเที่ยวทุกท่าน ร่วมสืบสานวิถีพุทธ พาครอบครัวหิ้วตะกร้า ทำบุญตักบาตร ไหว้พระเสริมสิริมงคล พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ที่งดงามด้วยวิถีชีวิตแห่งศรัทธา เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าแห่งความภาคภูมิใจ