รมว.ปุ๋ง หนุน สวธ.จัดทำแผนล่วงหน้า 10 ปี ทยอยเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

รมว.ปุ๋ง หนุนสวธ.จัดทำแผนล่วงหน้า 10 ปี ทยอยเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกเพื่อเผยแพร่สู่ระดับนานาชาติ ปีนี้ลุ้น“ต้มยำกุ้ง”และชุด“เคบาย่า” กำชับส่งเสริม Soft Power นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สร้างอาชีพสร้างรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ประชุมรับฟังการดำเนินงานของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) โดยมีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ กระทรวงวัฒนธรรม โดยที่ประชุมได้รับรายงานโครงการสำคัญที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการในปี 2567 ได้แก่ 1) โครงการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ งานมหกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 วันที่ 12-15 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ท้องสนามหลวงและศูนย์การค้าไอคอนสยาม การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปี 2567 เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า 2)โครงการส่งเสริมการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับจังหวัดและระดับประเทศทุกปี และมีการเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ที่ผ่านมาประเทศไทยเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติและได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกแล้ว 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” ซึ่งปีนี้มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย 2 รายการ ได้แก่ “ต้มยำกุ้ง” และชุด “เคบาย่า” ซึ่งชุด “เคบาย่า” ประเทศไทยได้เสนอร่วมกับมาเลเซีย บูรไนดารุสซาลาม อินโดนีเซียและสิงคโปร์ จะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 วันที่ 2-7 ธันวาคม 2567 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และได้เสนอ “ชุดไทย” และ “มวยไทย” รวมทั้ง “ผ้าขาวม้า” เพื่อเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกไปแล้วและจะเข้าสู่การพิจารณาตามลำดับ และอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล“ประเพณีลอยกระทง”เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก 3) โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย เช่น จัดทำบทเพลงสงกรานต์ 20 ภาษา จัดทำไปแล้ว 12 ภาษา จะจัดทำเพิ่มเติมอีก 8 ภาษา การส่งเสริมงานเทศกาลประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ งานประเพณีแห่เทียนพรรษา งานประเพณีแข่งเรือ งานประเพณีลอยกระทง 4)โครงการส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องเกมและส่งเสริมเครือข่ายระหว่างประเทศ เช่น งานมหกรรมเกมนานาชาติ กิจกรรมการประกวดคอสเพลย์ 5)โครงการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล เช่น การเผยแพร่องค์ความรู้ : ช่างฝีมือการย้อมสีธรรมชาติ การประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา 6) การขับเคลื่อน Soft Power ด้านภาพยนตร์ ละครซีรีส์ สารคดีและแอนิเมชันไทย เช่น การสนับสนุนการผลิต การอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและการสร้างบุคลากรด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดีและแอนิเมชันไทย การเสริมสร้างทักษะด้านศิลปะตามนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power

“ได้ให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสที่ “ต้มยำกุ้ง”และ ชุด“ เคบาย่า”เข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกในปีนี้ และการจัดทำแผนล่วงหน้า 10 ปีในการเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ก็ให้จัดทำรายละเอียดทั้งประเภทและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อส่งเสริมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและ Soft Power ด้านต่างๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายระดับนานาชาติ ส่วนการส่งเสริมงานเทศกาลประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ให้ประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัด จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายทางวัฒนธรรมเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนงานมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้ให้ส่งเสริม Soft Power นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เช่น อาหารไทย งานหัตถกรรม งานเทศกาลประเพณีมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว