นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มอบหมายให้ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายธกร เลาหพงศ์ชนะ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายมงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมการท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การการท่องเที่ยวโลก (The 1st UN Tourism Regional Forum on Gastronomy Tourism for Asia and the Pacific: Gastronomy Tourism for People and Planet) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2567 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ และในโอกาสนี้ นายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานกับผู้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย
โดยการเสวนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดกรอบนโยบายที่จำเป็นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยเน้นการสร้างโอกาสให้กับจุดหมายปลายทางในการสร้างจุดขาย กระจายความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวซึ่งงานนี้มีรัฐมนตรีท่องเที่ยว ผู้แทนประเทศสมาชิก UN Tourism กว่า 43 ประเทศ หน่วยงานองค์กรภารรัฐและเอกชนกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ ผช. จักรพล ได้แสดงวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นลำดับต้นๆ ของนโยบายการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง รวมถึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เป็นเมืองเกษตรกรรม จึงเหมาะกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ดึงดูดผู้หลงใหลในอาหารจากทั่วทุกมุมโลก จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2561 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ณ จังหวัดเชียงใหม่ ไทยได้มีข้อริเริ่มจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงอาหารอาเซียน และปฏิญญาการท่องเที่ยวเชิงอาหารอาเซียนและรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนได้ให้การรับรองในที่ประชุม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ไทยได้จัดตั้ง “Thailand Gastronomy Network” สำเร็จแล้ว โดยมีความก้าวหน้าด้วยการจัดตั้ง Gastronomy Academy มี E-learning Platform มีการจัดทำ Gastronomy Trail & Visit และ Sustainable Food Learning Journey & Workshop และรัฐบาลปัจจุบันก็ได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จนถูกหยิบยกให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนนโยบาย Ignite Thailand ที่เรียกว่า“5 Must Do in Thailand” ได้แก่ Must Beat (Muay Thai), Must Eat (Thai food), Must Seek (Thai culture), Must Buy (Thai fabric) และ Must See (Thai shows ) โดยเราจะส่งเสริมให้อาหารไทยไปสู่ครัวโลกผ่านการนำเสนอ 77 อาหารถิ่น 77 ขนมไทย โดยสอดคล้องกับนโยบายTHACCA เพื่อจะขับเคลื่อน 1 เชฟ 1 ตำบล เพราะเราต้องการ
1) ยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวให้ได้รับประสบการณ์อาหารที่เป็นเอกลักษณ์และแท้จริง
2) ส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมผ่านอาหารไทยดั้งเดิม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย
3) กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการสนับสนุนเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ของฝาก ซึ่งเป็นห่วงโซ่ของระบบนิเวศน์ที่จะทำให้ วัฒนธรรมอาหารกลายเป็นเรื่องทรงอิทธิพลในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ที่มุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความเป็นดีอยู่ดีของคนในสังคม และนำพาให้ประเทศก้าวสู่เป้าหมายการจัดการอย่างยั่งยืน และ
4) กระจายผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ไปยังการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การเรียนทำอาหาร และเทศกาลอาหาร เป็นต้น
โดยเชื่อว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารสามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนต่างรุ่นและการส่งผ่านเรื่องราวข้ามวัฒนธรรมในมิติต่างๆ