กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้ระวังการเก็บเห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมารับประทาน ซึ่งอาจเป็น “เห็ดพิษ” เสี่ยงเสียชีวิตได้ ซึ่งเห็ดป่าบางชนิดมีลักษณะคล้ายกันจนบางครั้ง ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเห็ดที่กินได้ หรือเห็ดพิษ แนะ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”
วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากและแยกได้ยาก จึงมักพบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา
สถานการณ์ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษในปีนี้ (ตั้งแต่ 1 มกราคม – 23 มิถุนายน 2567) มีรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดพิษรวม 14 เหตุการณ์ มีผู้ป่วยรวม 60 ราย เสียชีวิต 6 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และพบได้ทุกช่วงวัย ผู้ป่วยอายุน้อยที่สุด อายุ 1 ปี อายุมากที่สุด อายุ 87 ปี ส่วนใหญ่ เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย (36 – 60 ปี) 25 ราย (ร้อยละ 41.67) สำหรับผู้เสียชีวิต 6 รายนั้น มีอายุระหว่าง 19 – 76 ปี ในปีนี้มีการรายงานมาจาก 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย (6 เหตุการณ์ ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 2 ราย) จังหวัดตาก (2 เหตุการณ์ ป่วย 9 ราย เสียชีวิต 2 ราย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (1 เหตุการณ์ ป่วย 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย) จังหวัดยโสธร (2 เหตุการณ์ ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 1 ราย) จังหวัดอุดรธานี (1 เหตุการณ์ ป่วย 14 ราย ไม่เสียชีวิต) จังหวัดเชียงราย (1 เหตุการณ์ ป่วย 3 ราย ไม่เสียชีวิต) และจังหวัดชัยภูมิ (1 เหตุการณ์ ป่วย 5 ราย ไม่เสียชีวิต) แหล่งที่มาของเห็ดพิษได้มาจากป่าเขา หรือสวนแถวบ้าน หรือพื้นที่เคยเก็บเป็นประจำทุกปี เห็ดที่พบเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ (3 ราย) เห็ดรวม (2 ราย) และเห็ดไม่ทราบชนิด 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้นำเห็ดพิษมาบริโภค คือ ไม่มีความรู้ในการแยกชนิดเห็ด และเป็นผู้ที่เก็บเห็ดในป่าเป็นประจำแต่ยังดูชนิดเห็ดพลาด
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า มีเห็ดพิษหลายชนิดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดที่บริโภคได้ ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด ตัวอย่างเช่น 1.เห็ดระโงกขาว (ไม่มีพิษ) มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกหิน (มีพิษ) ลักษณะที่ต่างกัน คือ เห็ดระโงกหิน รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน
2.เห็ดถ่านใหญ่ (ไม่มีพิษ) คล้ายกับเห็ดถ่านเลือด (มีพิษ) ลักษณะที่ต่างกันคือ เห็ดถ่านเลือดมีขนาดดอกที่เล็กกว่า และมีน้ำยางสีแดงส้ม 3.เห็ดโคน (ไม่มีพิษ) คล้ายกับเห็ดหมวกจีน (มีพิษ) ลักษณะที่ต่างกันคือ บนหมวกของเห็ดหมวกจีนจะมีปุ่มนูน ผิวหมวกเห็ดหยาบเป็นริ้ว เป็นต้น
สำหรับระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหลังกินเห็ดพิษ มีตั้งแต่เร็วเป็นนาที ถึงหลายชั่วโมง อาการของผู้ป่วยแตกต่างกัน บางรายมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น วิงเวียน อาเจียนปวดท้อง ถ่ายเหลว บางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติหลังกินเห็ด ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ด และนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือ หรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย และควรแจ้งผู้กินเห็ดจากแหล่งเดียวกันให้สังเกตอาการ สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น หากมีผงถ่านคาร์บอน (Activated Charcoal) สามารถรับประทานเพื่อช่วยดูดซับพิษ และจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป อย่างไรก็ตามควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนให้เก็บเห็ด เลือกซื้อเห็ดจากแหล่งที่รู้จัก หรือจากแหล่งเพาะพันธุ์ขาย หลีกเลี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่า หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์พร้อมเห็ดเพราะอาจทำให้เกิดพิษได้ นอกจากนี้เห็ดพิษหลายชนิดไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ดังนั้น “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422