ชป.เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงตอนบนประสบปัญหาอุทกภัย แต่ในบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาภัยแล้งอยู่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบนของประเทศ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางแห่ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเอ่อล้นตลิ่งในบางจุด นั้น กรมชลประทานได้เข้าให้การช่วยเหลือทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน อาทิ ที่จังหวัดนครพนม อำเภอวังยาง และ อ.นาแก มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรรวม 140 ไร่ เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำลงลำน้ำก่ำได้ สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่ลำน้ำก่ำ และแขวนบานระบายที่ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต เพื่อเร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำลงสู่แม่น้ำโขง คาดว่าจะสูบน้ำช่วยเหลือแล้วเสร็จภายใน  1-2 วัน ส่วนบริเวณลำคลองฝายห้วยละเอ ที่คันดินเกิดรอยร้าวและยุบตัวลง เนื่องจากการระบายน้ำไม่ทัน โครงการชลประทานนครพนม ได้เข้าดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3-4 วันนี้

ที่จังหวัดยโสธร บริเวณ อ.ป่าติ้ว น้ำจากลำเซบายล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ทำการเปิดบานระบายน้ำเพิ่ม เพื่อเร่งระบายน้ำที่เขื่อนลำเซบายอำนาจเจริญ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน

สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณลำน้ำยัง  ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทางตอนบนจังหวัดกาฬสินธุ์ และลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดยโสธร ส่งผลให้ระดับน้ำในน้ำลำยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางจุดเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันพนังกั้นน้ำฝั่งซ้ายของลำน้ำยัง  มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณ บ้านโนนเชียงหวาง บ้านหนองบุ่ง ตำบลโคกกกม่วง อำเภอโพนทอง และ บ้านนาวี ตำบลศีวิลัย บ้านดงแจ้ง บ้านหนองจอก บ้านหนองผักตบ ตำบลเหล่าน้อย อ.เสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด รวมพื้นที่ประมาณ 4,000  ไร่  และ อ.เขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ อีก 100 ไร่  หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่คาดว่าระดับน้ำจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ

นอกจากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยแล้ว  กรมชลประทาน ยังคงให้การช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ อาทิ    ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมือง โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้แก้ปัญหาระยะเร่งด่วน โดยทำการผันน้ำจากเหมืองหินเก่า ปริมาณน้ำ 1.5 ล้าน ลบ.ม. ไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ด้วยเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากเหมืองหินเก่าลงคลองผันน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำอีก 8 เครื่อง สูบน้ำจากคลองผันน้ำไปยังอ่างฯห้วยตลาด ที่ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเพียง 1.36. ล้าน ลบ.ม. และอ่างฯห้วยจระเข้มาก มีปริมาตรน้ำ 0.231 ล้าน ลบ.ม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ที่จังหวัดสุรินทร์ โครงการชลประทานสุรินทร์ ได้เร่งแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการผันน้ำจากบ่อหินปริมาณน้ำ 20 ล้าน ลบ.ม. ไปยังอ่างฯห้วยเสนง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง สูบน้ำจากบ่อหิน ไปลงคลองธรรมชาติและท่อส่งน้ำ อัตราการสูบ 36,000 ต่อวัน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสะสมจากการสูบจากบ่อหิน 564,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่อ่างฯห้วยเสนง มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 2.502 ล้าน ลบ.ม. และอ่างฯอำปึล มีปริมาณน้ำ 0.640 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้ง 2 อ่างฯ มีน้ำ 3.142 ล้าน ลบ.ม. หากมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่จะส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

ที่จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง สูบน้ำเติมให้กับแหล่งน้ำดิบในเขต จ.ชัยภูมิ  และติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 1 เครื่อง บริเวณหนองแหนและหนองแปน บ้านขามเปี้ย    หมู่19 ต.กู่ทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืช พื้นที่กว่า 500 ไร่

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวม 29 จังหวัด มาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจำนวน 331 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 16 คัน เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย พร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคคลากร เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที และยังคงให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศในพื้นที่ของตนเองอย่างใกล้ชิด และรับฟังข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ จากหน่วยงานราชการเท่านั้น

******************************

กรมชลประทาน

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ