นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีทางศาสนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อถวายพระราชกุศล และเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าและศาสนิกชนทุกศาสนา ได้ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเดือนกรกฎาคม 2567 ประกอบด้วยโครงการพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนาถวายพระพรชัยมงคล และ โครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งการดำเนินงานในโครงการเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์การทางศาสนา 5 ศาสนา และภาคีเครือข่ายทางศาสนา จัดกิจกรรมทางศาสนา โดยโครงการพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนาถวายพระพรชัยมงคล ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2567 จัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.00 น. โดยมีผู้นำองค์การศาสนา 5 ศาสนาร่วมประกอบพิธี ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกซ์ ประกอบพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา โดยศาสนาพุทธ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เป็นหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น และนับถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ การได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยาย ถือว่าเป็นสิริมงคล ประสิทธิ์ประสาทความเจริญ และป้องกันอันตรายได้ ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร เพื่อแสดงออกถึงการรำลึกถึงอัลลอฮ์ อิสลามสอนให้อ่านดุอาในเวลาและโอกาสต่าง ๆ ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร เป็นรูปแบบความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า การภาวนาสำหรับชาวคริสต์ศาสนิกชนจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยมีบทภาวนาที่คริสต์ศาสนิกชนทุกคนสามารถอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้ เพื่อแสดงความเป็นน้ำใจเดียวกัน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สวดถวายพระพร เรียกว่า พรหมยัชญะและเทวยัชญะ เป็นหลักสำคัญ 2 ประการ ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดูที่เคร่างจะต้องทำประจำวัน ที่เรียกว่า ปัญจมหายัชญะ คือการบูชาที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการ และศาสนาซิกข์ สวดอัรดาสขอพรจากพระศาสดา เป็นบทสวดเพื่อรำลึกถึงพระคุณของศาสดาขอให้พระองค์ประทานพร ปกป้องคุ้มครองศาสนิกชนทุกเชื้อชาติศาสนา สำหรับส่วนภูมิภาค กรมการศาสนายังร่วมกับองค์กรเครือข่ายทางศาสนา และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2567 เพื่อส่งเสริมให้ศาสนิกชนมีจิตสำนึกที่ดี และตั้งใจปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนา สร้างความสมานฉันท์ ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 กำหนดเปิดตัวโครงการวิปัสสนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยในส่วนกลาง จัดกิจกรรมดังกล่าว ณ วัดธรรมมงคล เถาบุญนนทวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดเวฬุวนาราม (ไผ่เขียว) ในกรุงเทพมหานครที่มีความพร้อมร่วมขับเคลื่อนดำเนินการจัดกิจกรรมวิปัสสนา เฉลิมพระเกียรติฯ สำหรับส่วนภูมิภาคได้ร่วมกับ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโครงการและนำร่องผ่านสื่อองค์ความรู้ และร่วมขยายผลระดับพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี และภาคใต้ จังหวัดพัทลุง รวมทั้งยังมีการสนับสนุนการให้ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งสถาบันการศึกษา ศาสนสถานทุกศาสนา จัดกิจกรรมในรูปแบบ Online เช่น การสอนวิปัสสนาผ่าน Influencer และสื่อวีดิทัศน์ เพื่อนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม เสริมสร้างคนดี สังคมดี โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส เป็นคนดีของสังคม มีทัศนคติที่ถูกต้องตามหลักธรรม ยึดมั่นในหลักคำสอนทางศาสนาที่ตนเคารพนับถือ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมสืบสานประเพณี วิถีวัฒนธรรมอันดีงาม และร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมคุณธรรม” พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้วัด ศาสนสถาน สถานศึกษาและเครือข่ายต่าง ๆ นำหลักการปฏิบัติสมาธิ วิปัสสนาไปช่วยพัฒนาสมรรถนะทางจิตให้สงบ มั่นคง มีสติ และนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
สำหรับโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล มหาเถรสมาคมได้มีมติครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เห็นชอบให้กรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 3 รูป คือ 1) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 2) พระธรรมวชิรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 3) พระธรรมวชิรมุนี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการดำเนินงานโครงการวิปัสสนาเพื่อคนทั้งมวล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้วัดทุกวัดในราชอาณาจักรและวัดไทยในต่างประเทศ และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด เข้าร่วมโครงการฯ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการปฏิบัติธรรม โดยมีกระบวนการฝึกและพัฒนาตนเอง ซึ่งต้องใช้สมาธิให้เข้าถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ที่นำมาปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องจะทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีความมั่นคงทางอารมณ์และมีภูมิคุ้มกันทางจิต ช่วยเสริมให้มีสุขภาพกายที่ดี และสามารถพัฒนาสติปัญญาเพื่อการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและนำไปสู่การขจัดกิเลส ก็จะคลายจากความทุกข์ เกิดความสงบร่มเย็น นำหลักธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สำคัญอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยตลอดมาในทุกยุคทุกสมัย ทรงเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตและทรงสอนหลักปรัชญาตามแนวทางหลักธรรมทางศาสนาให้แก่ประชาชนของพระองค์นำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงพระบรมราโชวาท น้อมนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้มีการนำหลักธรรมคำสอนทางศาสนาบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรม เสริมสร้างคนดี เป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรม และพิธีกรรมของแต่ละศาสนา มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นการส่งเสริมคุณธรรมและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและพิธีกรรมที่ดีงาม เป็นการร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดอย่างยั่งยืนให้คงอยู่คู่ประเทศไทย