กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 1,823 ราย เฉลี่ยวันละ 260 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 732 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 34 ราย และเสียชีวิต 12 ราย อยู่ในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป แนะปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ปกป้องกลุ่มเสี่ยง 608 ปลอดภัยจากโควิด 19 หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มากหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์
วันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16 – 22 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,823 ราย เฉลี่ยวันละ 260 ราย (ลดลง ร้อยละ 63.2) ผู้ป่วยปอดอักเสบ 732 ราย (ลดลง ร้อยละ 2.1) ใส่ท่อช่วยหายใจ 347 ราย (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3) และเสียชีวิต 12 ราย (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8) โดยผู้เสียชีวิต 11 ราย (ร้อยละ 91.7) เป็นผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก แนะนำต้องป้องกันตนเองและระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง 608 เน้นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหมู่มากหรือแออัด ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โควิด 19 ส่วนใหญ่พบการระบาดในสถานที่ที่มีผู้คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น เรือนจำ วัด สถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงพยาบาล และสามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ไม่ต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ แนะนำผู้ปกครอง หากบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นโควิด 19 แม้เพียงเล็กน้อย ขอให้หยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายดีแล้วจึงกลับไปเรียนได้ และเด็กป่วยไม่ควรเข้าใกล้กลุ่มเสี่ยง 608 เนื่องจากหากติดเชื้ออาจมีอาการหนักได้
ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว เป็นช่วงที่โรคระบบทางเดินหายใจแพร่ระบาดได้ง่าย แนะนำประชาชนที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากพบผลติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัวไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่น และรีบพบแพทย์โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการ สามารถป้องกันตนเองได้ โดย 1) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 2) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด หรือกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก 3) สวมหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ 4) หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ และ 5) หากมีอาการป่วยแต่ผลตรวจ ATK ยังไม่ติดเชื้อ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุหรือกลุ่ม 608 ในครอบครัวซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนของกรมควบคุมโรค โทร. 1422