เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (กอวช.) ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สวทช. (โยธี) และผ่านระบบออนไลน์
รมว.อว. ได้ให้แนวทางการทำงานต่อเนื่องจากการแถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry โดยขอให้มีการจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ เช่น ความต้องการ High-Skilled Workforce ตามนโยบาย IGNITE THAILAND รวมถึงในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรม จะต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นงานของกระทรวง อว. เป็นหลัก เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลกระทบไปถึงประชาชนโดยตรง
จากนั้น สอวช. ได้นำเสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอนาคต (Future Food) ด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ว่า ปี พ.ศ. 2566 ไทยส่งออกอาหารอนาคตมูลค่ามากกว่า 143,000 ล้านบาท สัดส่วนส่งออกมากสุด คือ อาหารสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชัน เป็นร้อยละ 89 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้กลุ่มอาหารอนาคตมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 11 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย และคาดการณ์ว่าภายปี 2570 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารอนาคตจะมีมูลค่าถึง 220,000 ล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารอนาคตเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และตอบรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงการบริโภคของโลก ซึ่ง สอวช. ได้วางกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนอาหารอนาคตของไทยด้วย อววน. ร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานของรัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ผ่าน 4 แนวทาง ได้แก่ 1. สร้างคอนเซอร์เทียมวิจัยวัตถุดิบต้นน้ำ ผ่านการบริหารจัดสรรทุนวิจัย 2. สร้างแพลตฟอร์มถ่ายทอดเทคโนโลยีและศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ประเมินเทคโนโลยีตลาด วิจัยกระบวนการผลิต โรงงานต้นแบบ บริการตรวจวิเคราะห์ตลอดจนสนับสนุนการขึ้นทะเบียน อย. ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 3. ส่งเสริมหน่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Foodtech & Biotech ยกระดับเป็น Smart Regulation Zone และ 4. พัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรม โดยวิเคราะห์ความต้องการกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต นำมาออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะ ทั้งในรูปแบบ Degree และ Non-Degree นำไปสู่การปฏิบัติงานจริงในสถานการประกอบการต่อไป
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้นำเสนอการพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-HRD ตามนโยบาย อว. FOR EV ว่า สอวช. จะสนับสนุนการพัฒนาทักษะกำลังคน ร่วมกับหน่วยงานทั้งภายใต้ อว. และหน่วยงานภายนอกตามที่ อว. โดย สอวช. กำลังดำเนินการ เช่น STEMPLUS คือการ Upskill คนในอุตสาหกรรมเดิมมาฝึกอบรมระยะสั้น ใช้เครื่องมือ Higher Education Sandbox ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ การสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการฯ ด้วยมาตรการทางภาษี และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับบีโอไอ หลักสูตร EV ในสถานอาชีวศึกษา 51 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นต้น
อีกทั้งยังมีโปรแกรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ โดยการให้สิทธิพิเศษหรือส่งเสริมบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิมเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้รองรับอุตสาหกรรม EV และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการผลิตและพัฒนาอย่างเร่งด่วน