เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 นาง.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคนทำมาลัยข้าวตอก หนึ่งเดียวในโลก โดยมี นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร นายอำเภอมหาชนะชัย วัฒนธรรมจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร ผู้นำชุมชนและชาวชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด เข้าร่วม ณ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและคณะได้ร่วมกิจกรรม “นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 5 วัด” จากนั้นเดินทางไปวัดกลางโพธิ์ชัย กราบสักการะพุทธรูปวชิรมหาชนะชัยภายในโบสถ์และพระพุทธรูปปางลีลาสูง 10 เมตร และกราบสักการะพระครูวิจิตรธรรมาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอมหาชนะชัย-ค้อวัง(ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดกลางโพธิ์ชัย เข้าสักการะศาลหลักเมืองพระเรืองไชยชำนะและร่วมกิจกรรม “จิบกาแฟ แลวัวข้ามแม่น้ำชี” และการทำสมุนไพรแช่เท้าและนวดสปาเท้า ณ ชุมชนเรือนไทยฝั่งแดง หลังจากนั้นเข้าร่วมขบวนแห่มาลัยข้าวตอก“หนึ่งเดียวในโลก”ไปยังวัดหอก่อง รับชมการฟ้อนรำถวายมาลัยข้าวตอก กราบสักการะพระครูอมรโชติวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหอก่อง และร่วมพิธีถวายมาลัยข้าวตอกเป็นพุทธบูชา และเยี่ยมชมมาลัยข้าวตอก ณ ศาลาการเปรียญวัดหอก่อง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยี่ยมเยือนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 1 ในสุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับชุมชนคุณธรรมฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้โครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยคัดเลือกชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวรที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติทั่วประเทศ จำนวน 76 ชุมชน ให้เหลือ 10 ชุมชน เพื่อรับโล่เชิดชูเกียรติ 10 สุดยอดชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จากนายกรัฐมนตรี และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้ อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชุมชน
นางยุพา กล่าวอีกว่า ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาดในวันนี้ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป็นชุมชนที่มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายในการขับเคลื่อนที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการอนุรักษ์สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านฟ้าหยาดเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองมหาชนะชัยที่บ้านเวินชัย และทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งท้าวปู่คำพูนเป็นเจ้าเมืองมหาชนะชัย พระราชทานนามว่า พระเรืองไชยชำนะ ต่อมาได้ย้ายเมืองใหม่มาที่บ้านฟ้าหยาด และทางราชการได้ยุบเมืองมหาชนะชัยเป็นอำเภอมหาชนะชัยขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมหาชนะชัย เป็น “อำเภอฟ้าหยาด”ในปีพ.ศ.2460 จากนั้นในปีพ.ศ.2482 ได้เปลี่ยนชื่อ “อำเภอมหาชนะชัย” ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2515 ได้มาขึ้นตรงต่อจังหวัดยโสธร
ชุมชนบ้านฟ้าหยาดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวอีสาน เนื่องจากในอดีตชาวลัวะหรือละว้า (ลาวเหนือ) หรือชาวกุลา (เงี้ยว-ไทยใหญ่) ที่มาจากภาคเหนือแถบพิษณุโลกได้อพยพมายังดินแดนบ้านหยาดฟ้า มีอัตลักษณ์นิยมแต่งกายโทนสีขาวสื่อถึง“บุญ”ความบริสุทธิ์และเป็นสีของมาลัยข้าวตอกและใช้ภาษาอีสานเป็นภาษาพื้นถิ่น มีงานประเพณีสำคัญคือ งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกในช่วงเทศกาลมาฆบูชาวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกและได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 โดยมาลัยข้าวตอกจะแห่ไปถวายวัดห่อกอง ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านฟ้าหยาด เรื่องดอกไม้สวรรค์ และได้นำเอา“ข้าวตอกแตก”มาร้อยเป็นพวงมาลัยถวายเป็นพุทธบูชา เรียกว่า “มาลัยข้าวตอก”ใช้แทนดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่จะบานและร่วงหล่น เนื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญใช้ในการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างถิ่นและกิจกรรมนุ่งซิ่นนั่งสาดตักบาตร 5 วัดทุกวันเสาร์ ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยผ้าไทยผ้าพื้นถิ่นนุ่งผ้าถุงเสื้อโทนสีขาวเพื่อใส่บาตรพระสงฆ์จาก 5 วัด ได้แก่ วัดกลางโพธิ์ชัย วัดฟ้าหยาด วัดหอก่อง วัดป่ามหาชนะชัยและวัดพระพุทธบาทที่มาบิณฑบาตตามถนนเรืองแสนกรรฐ์
ภายในชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดหอก่อง พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก วัดฟ้าหยาด ศาลหลักเมืองพระเรืองไชยชำนะ ศูนย์การเรียนรู้มาลัยข้าวตอก วัดพระพุทธบาทยโสธร และมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่น เช่น มาลัยข้าวตอกในรูปแบบมาลัยจิ๋วถวายเป็นพุทธบูชา มาลัยกรจากข้าวตอก มาลัยแบบพวงกุญแจ ผ้าพื้นเมืองลายมาลัยข้าวตอกและธุงมาลัยข้าวตอก จักสานบ้านฟ้าหยาด ผ้าพื้นเมืองทอมือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ลูกประคบ ผงแช่เท้า และอาหารพื้นบ้าน เช่น อั่วกบสมุนไพร น้ำพริกปลาส้มสมุนไพรและน้ำพริกสมุนไพร ลาบปลา ต้มปลาแม่น้ำชี รวมทั้งมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักและกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น ล่องเรือ/ล่องแพแม่น้ำชี สปาเท้าสมุนไพร ดริฟกาแฟแลธรรมชาติฝั่งแดง เป็นต้น