สำนักงาน กสม. ขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ ‘นายอับดุลเลาะ’ ภายหลังหมดสติในค่ายทหาร เผยเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

วันที่ 26 สิงหาคม 2562  นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เปิดเผยถึงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูเซอ ผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 ไปยังศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ต่อมา นายอับดุลเลาะหมดสติภายในค่ายและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานี ในช่วงเช้ามืดวันที่ 21 กรกฎาคม 2562และในวันต่อมาถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤตเรื่อยมา กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2562 ว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและญาติมิตรของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ และขอให้คำมั่นว่าจะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวภายใต้ขอบเขตหน้าที่และอำนาจตามที่ครอบครัวของนายอับดุลเลาะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนมายังสำนักงาน กสม. เพื่อให้สามารถนำข้อเท็จจริงเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พิจารณาในโอกาสแรกได้ในทันที เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ดำรงตำแหน่ง กสม. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งและอยู่ระหว่างรอการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ กสม. ชั่วคราวให้ครบเจ็ดคนหรือรอ กสม. ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

นายโสพล กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค  4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่านายอับดุลเลาะหมดสติเพราะเหตุใดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า ถูกทำร้ายหรือซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวเช่นเดียวหรือคล้ายคลึงกับนายอับดุลเลาะนั้น  กสม. เคยมีข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากครอบครัว ญาติพี่น้อง ตลอดจนทนายความของผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ในระหว่างเดือนธันวาคม 2559 – พฤษภาคม 2561 จำนวน 100 คำร้อง ปรากฏตามรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 87 – 186/2562 ลงวันที่ 3 เมษายน 2562 โดยมีข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

  1. 1. คณะรัฐมนตรีและกระทรวงยุติธรรมควรสร้างกลไกภายในประเทศเพื่อประกันสิทธิของบุคคล
    ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี(Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT)ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยควรเร่งรัดการจัดทำร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ เสนอต่อรัฐสภาพิจารณา  ขณะที่กระทรวงยุติธรรมควรเร่งกำหนดมาตรการป้องกันการถูกทรมาน และกำหนดมาตรการสำหรับรับเรื่องราวร้องเรียนและตรวจสอบการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการทรมานบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีเร่งด่วน
  2. 2. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผู้ถูกร้อง) ควรกำหนดระเบียบว่าด้วย
    การควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงซึ่งทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ และดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เช่น ควรแจ้งให้บุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียอิสรภาพทราบถึงเหตุที่ถูกควบคุมตัว และบุคคลในครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวทราบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการควบคุมตัว สถานที่ที่ถูกควบคุมตัว และการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่แห่งอื่น ในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ หากเจ็บป่วยร้ายแรงควรได้รับการส่งตัวไปยังสถาบันผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลเพื่อการรักษาโดยพลันได้ ควรจัดสถานที่สำหรับควบคุมและสถานที่สำหรับการซักถามบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวให้สามารถตรวจสอบได้และได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ควรติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัว เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่ และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว เป็นต้น
  3. 3. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผู้ถูกร้อง) ควรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ได้ตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวหรือพบผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงทันทีเมื่อได้รับการประสาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงตามหน้าที่และอำนาจได้โดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

“สำนักงาน กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า จะได้พิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าวเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือข้อกล่าวหาเรื่องการซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัวได้อีก” นายโสพลกล่าว

เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

26 สิงหาคม  2562