นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในพุทธศักราช 2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่กราบบังคมทูลถวาย เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ โดยเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 ที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี และได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
การให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นวิธีการดำเนินงานอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้การบริการทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บรรลุผลสำเร็จตามภารกิจที่รับผิดชอบ โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหา ให้ได้รับบริการทางการเกษตรอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและครบถ้วน เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัย โรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ และการให้วัคซีนป้องกันโรค รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตรเสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะบูรณาการการทำงานระหว่าง นักวิชาการของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง ดิน และน้ำ ฯลฯ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิชาการด้านต่างๆ มาให้บริการในคลินิกเกษตร โดยสามารถเคลื่อนที่เข้าไปได้ถึงในระดับตำบล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้ารับบริการทางการเกษตรได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทุกด้านในคราวเดียวกัน
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ฯ ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก เทศบาลตำบลท่าชี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเปิดคลินิกให้บริการแก่เกษตรกร ได้แก่ คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกข้าว คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย (สปก.) คลินิกส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมภายในงาน ได้แก่ การเสวนาทางวิชาการ “การควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด” โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย และสมาคมทุเรียนใต้ การประกวดผลผลิตทางการเกษตร การแข่งขันส้มตำลีลา การแข่งขันนกกรงหัวจุก
“โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกษตรกรจะได้รับบริการแบบครบวงจรในทุกๆ ด้าน ซึ่งเป็นการนำบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกรถึงในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ การพัฒนางานด้านต่างๆ ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระวิริยะอุตสาหะ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านการเกษตร การศึกษา การบริหารจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือ ความทุ่มเทพระราชหฤทัยในการทรงงานเพื่อประชาชน พระองค์ทรงเสียสละเพื่อประชาชนโดยเสมอมา และด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักและเล็งเห็นในคุณค่าแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงยึดมั่นที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อเป็นแสงสว่างนำทางตามรอยพระราชปณิธานไปสู่ความผาสุกแก่ประชาชนและประเทศชาติ”