กรมสุขภาพจิต ห่วงประชาชนเลียนแบบฆ่าตัวตาย วอนสื่อนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง แนะคนรอบข้างพูดคุย รับฟังอย่างใส่ใจ

วันที่ 26 สิงหาคม 2562 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย โดยมีข้อมูลตัวเลขสถิติพบว่า ภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศ อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 4,137 คน แบ่งเป็นชาย 3,327 คน คิดเป็นร้อยละ 80 และเป็นหญิง 810 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า และพบว่า วัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด ร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี ร้อยละ 3.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ พบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และ   มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย สำหรับสาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7 ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9 ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36 ปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า มีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 6 และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 12

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ข่าวในช่วงที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ โดยเฉพาะข่าวการฆ่าตัวตายแบบรมควันนั้น กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจากสื่อมวลชน อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (Copycat suicide) ขึ้นมาได้ โดยการลอกเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับข่าวที่บรรยายถึงวิธีการฆ่าตัวตายโดยละเอียด การได้เห็นภาพ อุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุ หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ในปี 2540-2560 พบว่า มีการฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีการรมควัน เพียงประมาณร้อยละ 0.1 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งกรมสุขภาพจิต ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกัน โดยในส่วนของสื่อมวลชนให้ใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ภาพข่าว อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำร้ายตนเอง หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวซ้ำๆ ถี่ๆ เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ และเพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทย ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ย้ำเตือนสังคมมาโดยตลอด โดยให้นำเสนอเป็นภาพกว้างๆ ของเหตุการณ์เท่านั้น และเน้นแนวทางการรักษาเยียวยาจิตใจของครอบครัวและคนรอบข้าง ตลอดจนเพิ่มการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพจิต

สำหรับวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน โดยให้ระลึกไว้เสมอว่า การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยง หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง โดยกรมสุขภาพจิตขอแนะนำให้ใช้หลักวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ 3 ส. คือ 1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตนเองออกจากสังคม 2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก และ 3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรปรึกษาสะมาริตันส์ 02-713-6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) ตลอดจนแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว