วันที่ 18 มิถุนายน 2569 นางศิริพร กฤชสินชัย รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำทีมธรรมาภิบาลลงพื้นที่ 2 อำเภอ ประกอบด้วยอำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ประจำปีงบประมาณ 2567 กว่า 7 ล้านบาท
นางศิริพร กฤชสินชัย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ ได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจในการดำเนินโครงการปรับปรุงเส้นทางสัญจร หมู่ที่ 5 บริเวณทางเข้าโรงเรียนวัดจงกลณีจนถึงทางรถไฟ ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ งบประมาณ 2,472,000 บาท โดย อบต.ท่าเจ้าสนุก ให้เหตุผลว่าถนนเส้นนี้ก่อสร้างมากว่า 20 ปีแล้ว หากแล้วเสร็จจะทำให้การสัญจรไปมาของพี่น้องประชาชนรวม 128 ครัวเรือน รวมถึง พื้นที่ใกล้เคียง เกิดสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลดปัญหาน้ำท่วมขัง อีกทั้ง เป็นเส้นทางที่เกษตรกรใช้ลำเลียงพืชผลทางการเกษตร ซึ่ง ก.ธ.จ.ได้ให้ข้อเสนอแนะพร้อมแสดงความห่วงใย ช่วงรอยต่อของถนนช่วงที่ 1 ที่มีขนาดความยาว 173 เมตร กว้าง 4 เมตร ขณะที่ช่วงที่ 2 ขนาดความยาว 506 เมตร กว้าง 5 เมตร รวมถึง วัสดุที่ระบุใน TOR เป็นวัสดุที่หาซื้อได้ยาก ต้องจ้างผลิต ดังนั้น ขอให้ไปทบทวนรายละเอียดของเนื้องานอีกครั้ง เพื่อให้งานที่ออกมาคุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ก.ธ.จ. ยังได้ลงพื้นที่ อบต.หนองขนาก อำเภอท่าเรือเช่นกัน เป็นโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด จำนวน 11 ตัว งบประมาณ 1 ล้านบาท โดยจะติดตั้งบริเวณหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 7 บริเวณถนนหน้า อบต.หนองขนาก ถนนฝั่งตรงข้ามริมคลองระพีพัฒน์ ถนนทาง 3 แยกริมคลองระพีพัฒน์ ทางไปวัดทุ่งมน และถนน 4 แยกริมคลองพระแก้ว ทางไปบ้านบ่อแร่ โดย อบต.ระบุว่า เป็นโครงการที่พี่น้องประชาชนร้องขอมา และเป็นโครงการนำร่องที่ อบต.จะต่อยอดหรือขยายผลในอนาคตได้ ซึ่งมองว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์ถึง 1,634 ครัวเรือน ประชากรกว่า 4 พันคน
ส่วนที่ปราสาทนครหลวง อำเภอนครหลวง เป็นกิจกรรม “ตามรอยอารยธรรมโบราณ ตระการตาปราสาทนครหลวง” และเฉลิมฉลองครบรอบ 393 ปีปราสาททอง งบประมาณ 3,500,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ปราสาทนครหลวงเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น กิจกรรมดังกล่าวจะมีจำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายน 2567 โดย ก.ธ.จ.ได้เสนอแนะให้นำผลิตภัณฑ์ อาหาร และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของอำเภอมาโชว์ พร้อมสร้างไฮไลท์ของงานในแต่ละวันเพื่อเป็นการจูงใจให้กับผู้เข้าชม หากปีแรกประสบผลสำเร็จ อำเภอนครหลวง สามารถนำผลงานที่ประจักษ์เสนอของบประมาณในการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องทุกปีได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ติดตาม 3โครงการดังกล่าว ก.ธ.จ.อยุธยา จะเน้นย้ำถึงการดำเนินโครงการให้เกิดความคุ้มค่าเกิดประสิทธิภาพ และพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด