รมว.เกษตรสั่งการ!!…กรมประมง ติดอาวุธความรู้ให้แก่ไต๋ไทย รู้รักษ์ทรัพยากร สร้างการยอมรับในระดับสากล ภายใต้โครงการ“ไต๋รักษ์ชาติ”ขับเคลื่อนให้ไทยเป็นเจ้าสมุทรอีกครั้ง

กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางด้านการประมงของประเทศไทย ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของผู้ควบคุมเรือ หรือ “ไต๋” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำประมง เป็นผู้หาปลาเพื่อมาเลี้ยงคน เเละเป็นหนึ่งในผู้สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้เเก่มวลมนุษยชาติ “ไต๋” เป็นอาชีพที่มีคุณค่า มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับอาชีพอื่น และในขณะเดียวกันยังเป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้จัดการเรือประมง ที่จะพาภาคประมงไทยพัฒนาไปสู่เจ้าสมุทรอีกครั้งหนึ่ง

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…เจ้าของเรือประมงพาณิชย์กว่าร้อยละ 90 จ้าง “ไต๋” เป็นผู้ควบคุมเรือเพื่อออกทำการประมง ในแต่ละปี “ไต๋” สามารถทำการประมงมีผลจับกว่า 1.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 71,500 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่า “ไต๋” เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการประมง การบริหารจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ เพื่อให้ภาคการประมงไทยบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นจึงเป็นการติดอาวุธความรู้ให้แก่ “ไต๋” เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ทั้งองค์ความรู้ด้านมาตรการการจัดการทรัพยากรประมง ด้านการจัดการประมงทะเล ด้านกฎหมายประมง ด้านกระบวนงานที่สำคัญในภาคการทำประมง รวมถึงกฎหมายประมงระหว่างประเทศ กฏหมายในระดับภูมิภาค เเละพันธสัญญากับองค์กรต่างๆ (RFMO) ให้เเก่ “ไต๋”  ล้วนเเล้วเเต่จะสร้างประโยชน์ให้กับไต๋เรือ เพิ่มพูนทักษะ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมเรือประมงไทย เพื่อการจัดการประมงที่ยั่งยืน (ไต๋รักษ์ชาติ) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม คามิโอ แกรนด์ จังหวัดระยอง เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรองรับ “ไต๋” เรือประมงพาณิชย์ นายท้ายเรือ และชาวประมง ที่ทำการประมงในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 50 คน โครงการฯ ได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน เเละคณะทำงานร่วมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (sea food task force) มาร่วมบรรยายในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติภาคสนามการปฐมพยาบาลและการใช้เวชภัณฑ์สำหรับใช้ในเรือ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เเละยังมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งเเวดล้อม Environmental Justice Foundation หรือ EJF เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการฝึกอบรมในครั้งนี้อีกด้วย

อธิบดีกรมประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า… ภายหลังจากผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร “ไต๋รักษ์ชาติ” แล้ว “ไต๋” และผู้เข้ารับการอบรม จะมีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการภาครัฐ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างถูกต้อง จะสามารถลดข้อผิดพลาดเเละป้องกันการกระทำความผิดในภาคการประมงที่ไม่ได้ตั้งใจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเเละประสิทธิผลในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรของไทยให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตได้ การจัดฝึกอบรมในรูปแบบเช่นนี้ จะมีการขยายขอบเขตไปอบรมให้แก่ผู้ทำการประมงพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง ตอนล่างและฝั่งทะเลอันดามัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการจัดฝึกอบรมในครั้งต่อไป จากทุกช่องทางสื่อสารของกรมประมง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ หรือกองบริหารจัดการเรือประมงและทำการประมง กรมประมง  เบอร์โทรศัพท์ 02-562-0600