กอปภ.ก. สั่งการจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือ ฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 26 – 31 ส.ค. 62

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 26 – 31 สิงหาคม 2562 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ และคลื่นลมทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น คลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม และคลื่นลมแรงบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 26 – 31 สิงหาคม 2562 ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ที่ต้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก แยกเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่ต้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากดินถล่ม แยกเป็น ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี อำเภอไทรโยค และอำเภอบ่อพลอย) ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี (อำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอขลุง) ตราด (อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ และอำเภอคลองใหญ่) ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น และอำเภอกะเปอร์) พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอกะปง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง และอำเภอคุระบุรี) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเกาะลันตา อำเภอเขาพนม และอำเภอปลายพระยา) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน) สตูล (อำเภอควนกาหลง อำเภอควนโดน อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง และอำเภอละงู)

สำหรับพื้นที่ต้องติดตามผลกระทบจากคลื่นลมแรง แยกเป็น ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป