วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 ระหว่างเวลา 12.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมจันทรา สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา ที่ประชุมวุฒิสภา ได้เปิดสมัยประชุมวิสามัญครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม) ในวาระ 2-3 โดยมี พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และคุณศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธาน ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ร่วมเสนอร่างกฎหมายมาตั้งแต่แรก โดยมี คุณเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการร่วมชี้แจง รวมทั้ง คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ คุณฉัตราภรณ์ ดิษฐศรีพร นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ และ คุณศุภณัฐ แก้วเล็ก นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ ร่วมสนับสนุนข้อมูลในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ วุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในชั้นวุฒิสภา เสนอ โดยไม่มีการแก้ไข ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น โดยเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในทันที เสร็จสิ้นกระบวนการนิติบัญญัติ เตรียมการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) เสนอเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวสร้างประวัติศาสตร์ยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่สำคัญใน 2 มิติ ได้แก่ 1) การแก้ไขถ้อยคำในกฎหมายให้เป็นกลางทางเพศ (Gender Neutral) เพื่อรับรองให้บุคคลทุกคน โดยไม่จำกัดปัจจัยทางเพศสภาพ สามารถก่อตั้งครอบครัวร่วมกันได้ และได้รับการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคู่สมรสอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และ 2) ปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำของการหมั้นและการสมรสจากเดิม 17 ปี เป็น 18 ปี ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนของประเทศไทย นอกจากนั้น การผ่านร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ยังส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) และเป็นที่สองในเอเชียที่รองรับสิทธิการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลเพศเดียวกัน (Same sex Union) ต่อจากไต้หวันอีกด้วย
สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ประกอบไปด้วย 69 มาตรา ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำนวนทั้งสิ้น 74 มาตรา โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.shorturl.asia/lYErS
#สมรสเท่าเทียม
#เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะรัก