เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวง โดยมีผู้บริหาร อธิบดี เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมได้รับทราบผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ขอให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป ทั้งนี้ให้อธิบดีทุกกรมกำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณ ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และขอให้ทุกหน่วยงานจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วาระที่ 1 อีกทั้งได้กำชับการจัดกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ มอบหมายปลัดกระทรวงและคณะทำงานหารือในการทำกิจกรรมให้เรียบร้อย
ขณะเดียวกัน ขอให้เตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัย โดยให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อม เพื่อการช่วยเหลือประชาชน ประสานงานผู้ว่าราชการจังหวัด และศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยของจังหวัด (ปภ.) ให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดเตรียมกำลังพลเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และช่วยเหลือในสถานการณ์วิกฤติ ส่วนกรมควบคุมมลพิษ ให้ความรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัย
ในช่วงท้ายการประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท ได้มอบข้อสั่งการ 5 ข้อ
1. การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น
2. กรณีเกิดอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ ให้ต้นสังกัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน มอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวง ติดตามการดำเนินงานกรณีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ประสบปัญหาอุทกภัยพร้อมทั้งรายงานให้ทราบด้วย
3. การแก้ไขปัญหาสัตว์ป่ารบกวนชาวบ้าน ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาลิง และช้างป่าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ให้จัดชุดเฝ้าระวังและเคลื่อนที่เร็วไปยังจุดที่เกิดเหตุ หรือตามที่ชาวบ้านร้องขอ และเมื่อเกิดปัญหาให้เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าหน่วยลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
4. การแก้ไขปัญหามลพิษ ให้กรมควบคุมมลพิษพิจารณาการกำหนดมาตรฐาน มาตรการของแหล่งกำเนิดมลพิษให้ครอบคลุมกับธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบัน เช่น ร้านซักอบแห้ง 24 ชั่วโมง ซึ่งมีการปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ และอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษตามมา ให้ความสำคัญกับการจัดหาเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้ประสานการบังคับใช้มาตรการ กฎหมายของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
5.กรณีเกิดเหตุการณ์ สถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉิน ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทุกจังหวัด รายงานมาที่กระทรวงฯ รายงานตรงมาที่หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่