กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าค่าคาดการณ์ 30% หรือต่ำกว่า 100,000 ราย
วันที่ 17 มิถุนายน 2567 นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 มิถุนายน 2567 ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 32,140 ราย มากกว่าปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 1.3 เท่า (24,625 ราย) พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 – 14 ปี มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต 38 ราย กระจายใน 22 จังหวัด เสียชีวิตมากสุดในกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ปัจจุบันพบการระบาดในจังหวัดน่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และบึงกาฬ
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขจัดการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม ซึ่งนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้ นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วมประชุมและเสนอมาตรการรับมือการระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝน โดยเสนอสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2567 ซึ่งมีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในเดือนมิถุนายน – กันยายน อาจมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่า 153,000 ราย พร้อมทั้งเสนอมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าค่าคาดการณ์ 30% ได้แก่ 1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต่ำกว่าร้อยละ 5 2) เน้นการตอบโต้ และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ 3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายควรได้รับการคัดกรองตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว (NS1 rapid test) ในหน่วยบริการปฐมภูมิ 4) เน้นการสื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา กลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก เพราะยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร อาจทำให้เลือดออกได้ และยังทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งในกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่พบป่วยมากที่สุด และในกลุ่มผู้สูงอายุที่พบว่าเมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด
นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวจะสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน โดยปิดฝาภาชนะใส่น้ำใช้ให้มิดชิด ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะบริเวณรอบบ้าน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422