วันที่ 17 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการแถลงข่าว “การยกระดับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยการท่องเที่ยวไทย” ร่วมกับ นายมงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พล.ต.ท. ศักย์ศิรา เผือกอ่ำ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ประกอบด้วย นายพลภูมิ วิภัตภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ดร.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรี นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นเกียรติในการแถลง
รมว.เสริมศักดิ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 ภายใต้ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case) ให้บรรลุรายได้ 3.5 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 36.7 ล้านคน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจะเน้นการพัฒนาทั้งด้านการตลาด (Demand side) และด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการ (Supply side) โดยให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวก ป้องกันและรักษาความปลอดภัย ช่วยเหลือเยียวยา และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อสร้างความมั่นใจและความประทับใจต่อประเทศไทยระยะยาว หนึ่งในมาตรการสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้คือการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยา รวมถึงกรณีอุบัติเหตุ อาชญากรรม และภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2567 โดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะต้องไม่เกิดจากความประมาท เจตนา การกระทำผิดกฎหมาย หรือพฤติการณ์ที่เสี่ยงของนักท่องเที่ยว
สำหรับอัตราชดเชยในโครงการนี้ ประกอบด้วย กรณีเสียชีวิตไม่เกิน 1 ล้านบาท, การสูญเสียอวัยวะถาวร สูญเสียสายตา ทุพพลภาพถาวร ชดเชย 300,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงไม่เกิน 500,000 บาท ผู้ยื่นคำขอจะต้องถือหนังสือเดินทางประเภทนักท่องเที่ยว โดยสามารถยื่นคำขอได้ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมถึงทางไปรษณีย์และอีเมล์ที่กำหนด โดยในระยะเวลา 5 เดือนของการดำเนินโครงการนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติยื่นคำขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวนกว่า 50 ราย โดยคณะกรรมการได้เห็นชอบให้จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวน 7 ราย โดยเป็นกรณีเสียชีวิต 4 ราย และกรณีบาดเจ็บ 3 ราย และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบหมายให้ตำรวจท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก เฝ้าระวัง และมีมาตรการสร้างความอบอุ่นใจ เช่น สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว 1155 และแอพพลิเคชั่น Thailand Tourist Police ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต้องขอความร่วมมือจากสถานทูตต่างๆ ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังนักท่องเที่ยวของท่าน ในเรื่องแนวปฏิบัติในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะการตระหนักถึงความปลอดภัยทางถนนที่ต้องขับขี่อย่างระมัดระวัง มีใบอนุญาตขับขี่ที่ถูกต้อง สวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์ เนื่องจากพบว่านักท่องเที่ยวมักประสบเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก
รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้โครงการนี้จะมีการจ่ายเงินเยียวยาเป็นจำนวนที่ไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนดและต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้านจากคณะกรรมการ ก็ถือได้ว่าประเทศไทยยังมีช่องทางนี้ในการช่วยเหลือเยียวยาเป็นการบรรเทาความทุกข์ของนักท่องเที่ยวและครอบครัว และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยอย่างสูงสุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจได้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยนอกจากคนไทยเจ้าของประเทศจะมีรอยยิ้มและอัธยาศัยไมตรีที่ไม่เหมือนชาติใดในโลกแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากรณีเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขอต่ออายุออกไปอีกระยะ เพื่อคงมาตรการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว ก่อนที่จะมีการเดินหน้าจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ถูกชะลอในช่วง Low Season ตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงเวลานี้