กรมส่งเสริมการเกษตรสั่งเข้มเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ เฝ้าระวังการระบาดหนอนกระทู้หอมในมันสำปะหลัง เร่งสกัดการระบาดในพื้นที่

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานจากเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีว่า พบการระบาดของหนอนกัดกินต้นมันสำปะหลัง ในพื้นที่อำเภอพนมทวน อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอบ่อพลอย รวมพื้นที่ที่ได้แจ้งการระบาด จำนวนกว่า 7 พันไร่ เกษตรกรกว่า 600 ราย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มอบหมายให้นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งลงพื้นที่ร่วมกับนายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นางสาวมาลินี หนูงาม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี นักกีฏวิทยาจากกรมวิชาการเกษตร เกษตรอำเภอพนมทวน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจแมลงศัตรูพืชดังกล่าว พบว่าเป็นหนอนกระทู้หอม จึงมีการประชุมร่วมกันเพื่อสรุปแนวทางวิธีการปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กรณีพบการระบาด ดังนี้

1) เมื่อพบตัวหนอนหรือกลุ่มไข่ในแปลงให้เก็บ และนำมาทำลาย พร้อมกำจัดวัชพืชที่อยู่ในแปลง และบริเวณรอบแปลง

2) ฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร เช่น คลอฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 -50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13) หรืออินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22)  หรืออิมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% W/V EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6) หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28) หลังจากพ่นสารเคมีแล้ว 1-2 วัน เกษตรกรต้องสำรวจแปลง หากยังพบการระบาดของหนอนกระทู้ให้พ่นสารเคมีซ้ำ และควรสลับกลุ่มสารเคมี เพื่อป้องกันการดื้อยา หากการระบาดของหนอนลดลงให้ควบคุมด้วยชีวภัณฑ์ โดยฉีดพ่นเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bt) อัตรา 80 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร หรือไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน หลังจากฉีดพ่นสารเคมีแล้ว 15 วัน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่พบการระบาด กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

1) ใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถตากดิน และการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อกำจัดดักแด้และลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์

2) ใช้วิธีกล โดยการเก็บกลุ่มไข่ และหนอนทำลาย

3) ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ ที่พบเข้าทำลายหนอนกระทู้หอม ได้แก่ มวนพิฆาต แมลงหางหนีบ

4) ใช้สารสกัดสะเดา อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 3 วัน 3-4 ครั้งต่อเนื่อง

5) ใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส (Bt) อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาด หากมีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาด

6) ใช้ไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน ควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็กจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็ว กรณีหนอนระบาดรุนแรงให้พ่นวันเว้นวัน

7) ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร เช่น คลอฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40 -50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 13) หรืออินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 22) หรืออิมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% W/V EC อัตรา 40 มิลลิลิตร หรือ 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 6) หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (กลุ่ม 28)

“ผมได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดกาญจนบุรีจัดทีมนักส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ทุกอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด และให้คำแนะนำในการป้องกัน กำจัด พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเบื้องต้น พร้อมรายงานผลการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบเป็นรายวัน ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมสถานการณ์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงโดยเร็ว” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย